๒. ตะกั่วและเหมืองสำคัญที่ทองผาภูมิ
แร่ตะกั่วเป็นส่วนผสมของการผลิตโลหะผสมโดยเฉพาะสำริด โดยใช้ในปริมาณสัดส่วนที่น้อยกว่าดีบุก แหล่งแร่ตะกั่วในเขตเทือกเขาตะนาวศรีนั้นมีเพียงแหล่งเทือกเขาในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีที่อยู่ในระหว่างลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่เท่านั้น แนวเทือกเขาหินปูนนี้เริ่มตั้งแต่บ้านเก่าไปถึงเกริงกระเวียและสังขละบุรี นอกจากนั้นพบเล็กน้อยในแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน แพร่ เพชรบูรณ์ เลย เพชรบุรี และยะลา
ส่วนทางฝั่งทวายไม่พบรายงานว่ามีแหล่งแร่ ในเขตสหภาพเมียนมาพบแหล่งแร่ตะกั่วในบริเวณรัฐฉานทางตอนเหนือของประเทศเท่านั้น ไม่พบการทำเหมืองตะกั่วในเขตคาบสมุทรสยาม-มลายูในยุคสุวรรณภูมิ จนกระทั่งพบร่องรอยของเหมืองตะกั่วเก่าในเขตอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุงในเทือกเขาบรรทัดที่ข้ามผ่านระหว่างจังหวัดตรังและพัทลุง และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเศรษฐกิจในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๘ จากโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ใกล้เคียงคือชิ้นส่วนของสถูปจำลองและตำนานเรื่องนางเลือดขาวในเส้นทางตรังและพัทลุง
แหล่งแร่ตะกั่วในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ในทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ พบตะกรันหรือ slag ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือของแร่ที่ถูกถลุงแร่เงินออกไปแล้ว จากการค้นพบตะกรันนี้เอง ทำให้มีการสำรวจกันมาก โดยในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ นักสำรวจชาวเยอรมันได้ค้นพบแหล่งแร่บ่อใหญ่ (หนองไผ่) ต่อมาเกิดสงครามโลกจึงหยุดชะงักไปหลายครั้งจนราว พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นมาก็เริ่มดำเนินการต่อเนื่องโดยบริษัทใหญ่และร่วมกับชาวเยอรมัน
ที่ ‘เหมืองสองท่อ’ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ มีการขุดหาตะกรันหรือ slag แร่ตะกั่วซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายมากมาย น่าจะเป็นสิ่งที่เหลือจากการถลุงตะกั่วในสมัยโบราณ ซึ่งในตะกรันนี้ยังมีแร่ตะกั่วค้างอยู่อีกประมาณ ๔๐-๕๐% จากข้อมูลเบื้องต้นของเอกสารการทำเหมืองแร่ตะกั่ว จากหลักฐานการศึกษาค่าไอโซโทปของธาตุคาร์บอน ๑๔ จากไม้ไผ่ที่ใช้ในการทำแร่จากอุโมงค์โบราณพบว่ามีอายุมากกว่าหนึ่งพันปีมาแล้วถึงหลายร้อยปี และยังพบตะกั่วรูปกรวย หรือที่เรียกว่า ‘ตะกั่วนม’ และหากค่าอายุที่มากกว่าหนึ่งพันปีขึ้นไปก็แสดงว่าพ้องกับก้อนตะกั่วที่เป็นสินค้าส่งออกพบในเรือสินค้าซึ่งจมในทะเลหลายแห่งตั้งแต่ยุคสมัยศรีวิชัยจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา
ก้อนตะกั่ว (ซ้าย) ก้อนตะกั่วนม (ขวา) พบในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี
ปัจจุบันจัดแสดงเป็นนิทรรศการ ที่เจดีย์ยุทธหัตถี อำเภอพนมทวน จังหวัดหาญจนบุรี
แต่ข้อมูลจากอีกแหล่งที่ยืนยันว่าเหมืองสองท่อน่าจะมีอายุเก่ากว่าพันปีไปจนเกือบสองพันปี คือหลักฐานจาก ‘ภูมิเสนย’ [Phum Snay] แหล่งฝังศพขนาดใหญ่ในยุคเหล็กตอนปลายใกล้กับเมืองศรีโสภณ อยู่ในจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการศึกษาค่า ‘ไอโซโทปเสถียร’ ของตะกั่วที่บ่งบอกว่ามาจากแหล่งใดได้ค่อนข้างแม่นยำ
การศึกษาแหล่งโบราณคดีที่ภูมิเสนย ซึ่งให้ค่าอายุโดยเฉลี่ยจากการเปรียบเทียบวัตถุทางวัฒนธรรมจากหลุมฝังศพไว้ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑-๖ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๑ ซึ่งยังคงพบหลักฐานร่องรอยของเศษภาชนะแบบพิมายดำและเนื้อแกร่งแบบบุรีรัมย์ในการอยู่อาศัยต่อมาด้วย โดยการนำของ Yoshimitsu Hirano นักวิชาการจากญี่ปุ่นนำเสนอว่าพวกเขาตรวจสอบค่าไอโซโทปของตะกั่วพบว่า