‘กลุ่มชุมชนโบราณถ้ำเขาขวากและโดยรอบ’ บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม ซึ่งเป็นอาณาบริเวณต่อเนื่องกับเขตจอมบึงที่บ้านปากบึง ซึ่งพบโบราณวัตถุพวกลูกปัดรูปลักษณ์แปลกตา ลูกปัดที่มีความสัมพันธ์กับแถบคาบสมุทรเช่นเขาสามแก้วในจังหวัดชุมพร และลูกปัดเหล่านี้มีอายุอยู่ในช่วงต้นพุทธกาลราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ เพราะลูกปัดที่เป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ นั้นล้วนเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์มงคลทางพุทธศาสนา
ที่ราบรอบเขาลูกโดดและขอบบึง ก็พบชุมชนเพื่อการอยู่อาศัย บางแห่งยังใช้ถ้ำและเพิงผาสำหรับการจัดพิธีกรรม และการฝังศพ บางแห่งก็พบการฝังศพครั้งที่สอง เป็นหม้อบรรจุภาชนะแล้ว โบราณวัตถุที่พบอนุมานได้ว่าเป็นยุคเหล็กตอนปลาย และที่มีความชัดเจนว่าอยู่ในช่วงร่วมสมัยกับการทำเหมืองแร่ดีบุกในหุบเขา ก็เพราะพบ บ้านหนองวัวดำ ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ ห่างจากเมืองโบราณคูบัวราว ๒๐ กิโลเมตร บริเวณที่พบมีร่องรอยของการฝังศพ และพบเครื่องประดับประเภทลูกปัดหินอาเกตและคาร์นีเลียนทรงกระบอก ลูกปัดแก้ว และเปลือกหอย กำไลและแหวนสำริด
‘เมืองโบราณคูบัว’ และ ‘บ้านโคกพริก’ มโหระทึกแบบเฮเกอร์ I มีรายงานว่าพบภายในเมืองโบราณคูบัว แต่ขนาดเล็กกว่าพบที่ถ้ำเขาขวากและบ้านหนองวัวดำ ส่วนบ้านโคกพริกอยู่เยื้องและอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองโบราณคูบัวที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของคลองแม่น้ำอ้อมในระนาบใกล้เคียงกันราว ๒.๕ กิโลเมตร และห่างจากปากคลองแม่น้ำอ้อมสบกับแม่น้ำแม่กลองราว ๔ กิโลเมตร คลองแม่น้ำอ้อม น่าจะเป็นเส้นทางแม่น้ำเดิมที่ใช้ในช่วงยุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องจนถึงสมัยทวารวดี พบลูกปัดทั้งรูปตรีรัตนะ เต่า ช้าง ในรูปแบบสัญลักษณ์เช่นเดียวกันกับชุมชนที่บริเวณขอบจอมบึง ลูกปัดทำจากหินควอตซ์ที่น่าจะทำจากแหล่งผลิตในพื้นที่ซึ่งมีคุณภาพดีมาก
ชุมชนที่คูบัวเป็นเมืองท่าภายในที่ตั้งขึ้นอย่างสืบเนื่องในการเป็นจุดขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเล เพราะมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ชัดเจน รวมทั้งเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางตะวันตกและตะวันออก
บริเวณคูบัวและลำแม่น้ำอ้อมของแม่กลองนี้คือเมืองท่านานาชาติสำคัญที่สืบเนื่องมาจากการเดินเรือเลียบชายฝั่งตั้งแต่ต้นพุทธกาลหรือก่อนหน้านั้นเพื่อมานำเอาแร่ธาตุสำคัญคือ ‘ดีบุก’ และ ‘ตะกั่ว’ เพื่อนำไปใช้ในโลหะผสม [Alloy] ที่สำคัญคือสำริด นั่นเอง
อนึ่ง น่าจะมีแหล่งผลิตดีบุกในเขตเทือกเขาตะนาวศรีอีกหลายแห่งในบริเวณต้นน้ำแควน้อยและแควใหญ่ เพราะพื้นที่เหล่านี้สามารถเดินทางออกไปสู่ชายฝั่งทะเลอันดามันทางแถบทวายและรัฐมอญได้เช่นกัน แต่บริเวณที่น่าสนใจอีกแห่งคือแถบ ‘ด่านช้าง’ เพราะพบร่องรอยของเหมืองดีบุกเก่าในตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ในละแวกใกล้เคียงกับต้นน้ำของลำตะเพิน ซึ่งบริเวณนี้น่าจะเป็นที่มาของชื่อ ‘ด่านช้าง’ เพราะมีบ้านคอกช้างตั้งอยู่และลำตะเพินเป็นเส้นทางตัดข้ามเขาไปยังลำน้ำแควใหญ่ได้
เพราะพบชุมชนโบราณที่มีโบราณวัตถุ ประเภทหม้อสามขา เครื่องมือหิน ไปจนถึงเครื่องมือสำริด กระจายหลายแห่งตามเส้นทางจากบ้านตะเพินคี่ สู่ บ้านทุ่งมะกอก ที่ตำบลองค์พระ บริเวณนี้เป็นแหล่งเหมืองดีบุกเก่า โดยมีการศึกษาคุณภาพของลำน้ำและน้ำใต้ดินบริเวณนี้ก็จะพบการปนเปื้อนของสารหนูในปริมาณเกือบสูงสุดที่จะใช้บริโภคอุปโภคได้ อันแสดงถึงการมีแหล่งแร่ดีบุกและผลอันเนื่องมาจากการทำเหมืองแร่ในอดีต
เครื่องมือเหล็กและขวานสำริดจากบ้านเขาวง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
เครื่องมือเหล็กรูปแบบนี้พบรอบเขาขวาก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีจำนวนมาก