ข้อสรุป
ต้นน้ำแม่กลองเป็นแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุที่หายาก โดยเฉพาะแร่ตะกั่ว ซึ่งมีผลพลอยได้คือแร่เงินด้วย และมีร่องรอยของการทำเหมืองโบราณที่อาจใช้สืบเนื่องมานานนับพันจนถึงสองพันปี การทำเหมืองโบราณยุคปัจจุบันในระยะแรกๆ ถูกบันทึกว่า นำเอาก้อนตะกั่วนมและ Slag ที่เหลือจากการถลุงที่มีอยู่เกลื่อนกลาด นำมาใช้ถลุงซ้ำใหม่และได้เนื้อตะกั่วถึง ๔๐ เปอร์เซนต์
การทำเหมืองตะกั่วที่นี่น่าจะเกิดขึ้นสองระยะสำคัญ คือในยุคสุวรรณภูมิหรือยุคเหล็กตอนปลายในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ โดยประมาณต่อเนื่องกับทวารวดี
และการทำเหมืองตะกั่วและดีบุกในเขตที่สูงของต้นน้ำแม่กลองนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการใช้ทรัพยากรพื้นฐานในการส่งเป็นสินค้าออกสำคัญในยุคต่อเนื่องกับยุคลพบุรีตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เรื่อยมาจนกำเนิดบ้านเมืองใหม่ๆ ที่เป็นพื้นฐานของสยามประเทศเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา
โดยมีการสร้างเมืองใหญ่รองรับที่ริมน้ำแควน้อยคือเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ เป็น ศาสนสถานสำคัญ มีเส้นทางเดินทางผ่านทางลำน้ำแควน้อยและแม่น้ำแม่กลอง ส่วนเส้นทางสำคัญมากอีกเส้นทางหนึ่งคือการเดินทางเข้าสู่แนวเทือกเขาของเขตเมืองอู่ทองเดิมในสมัยทวารวดี และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องดังพบศาสนสถานสำคัญบนยอดเขาและการบูชารอยพระพุทธบาทจำลองรวมทั้งการบรรจุพระพิมพ์ การบูชาโดยเขียนสัญลักษณ์ธรรมจักรลงบนผนังถ้ำในเขตเทือกเขาหลายแห่งต่อเนื่องกับเขตเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทองเก่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามคติเดิมในช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ มาแล้วและปรากฏแบบแผนในเส้นทางข้ามคาบสมุทรสยามตอนล่างด้วย
แล้วใช้เส้นทางน้ำโบราณคือลำน้ำท่าว้าตั้งถิ่นฐานและเดินทางติดต่อ โดยมีการลัดเข้าสู่บ้านเมืองแห่งใหม่ในยุคสุพรรณภูมิที่เกิดขึ้นสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีนเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งในช่วงก่อนหน้านั้น มีการสร้างเตาเผาภาชนะเนื้อแกร่งที่บ้านบางปูน เหนือจากตัวเมืองสุพรรรภูมิขึ้นมาตามลำน้ำสุพรรณบุรีราว ๒ กิโลเมตร พบเครื่องถ้วยในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ในการขุดค้นและภาชนะจากเตาบางปูนที่อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่าสุพรรณภูมิ/อโยธยาและศิลปกรรมที่ถูกเรียกว่าแบบอู่ทอง
แผนที่แสดงที่ตั้งของเหมืองตะกั่วและบริเวณที่ตั้งสำคัญต่างๆ ในช่วงยุคสุวรรณภูมิ
หรือยุคเหล็กตอนปลายมาจนถึงสมัลลพบุรี-อู่ทอง/สุพรรรภูมิ