‘เมืองราชบุรี’ ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำแม่กลองด้านตะวันตก น่าจะสืบเนื่องมาจาก ‘เมืองคูบัว’ ที่อยู่บริเวณแม่น้ำอ้อม ซึ่งเป็นลำน้ำเก่าของแม่น้ำแม่กลองอันเป็นเมืองในสมัยทวารวดี เมืองราชบุรีเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๕๕๐ x ๒,๑๐๐ เมตร และเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน ดูว่าจะเป็นเมืองท่าค้าขายในยุคราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา
เมืองราชบุรีเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีโบราณสถานสำคัญภายในเมืองหลายแห่งที่มีอายุตั้งแต่สมัยลพบุรีลงมาจนถึงอยุธยาและกรุงเทพฯ ศาสนสถานสมัยลพบุรีได้แก่ ‘พระปรางค์วัดมหาธาตุ’ กำแพงศิลาแลงรอบวัดมหาธาตุซึ่งมีพระพุทธรูปสลักบนใบเสมาของกำแพงได้รับอิทธิพลศิลปะแบบบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และวัดมหาธาตุนี้น่าจะทำขึ้นใหม่สืบเนื่องจากศาสนสถานแบบปราสาทซึ่งอาจมีรูปแบบเช่นเดียวกับวัดกำแพงแลง เพชรบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงถูกนำมากล่าวอ้างบ่อยๆ ว่า เป็นหลักฐานที่แสดงว่า เมืองราชบุรีนี้คือ ‘เมืองชัยราชปุระ’ ที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ ว่าเป็นเมืองขึ้นของกัมพูชา หากพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ เมืองราชบุรี ดูเป็นศิลปะแบบลพบุรีเช่นเดียวกับปรางค์วัดมหาธาตุ เมืองลพบุรี
นอกจากนี้ ยังพบพระพุทธรูปที่เป็นของในสมัยทวารวดีและลพบุรีเป็นจำนวนมาก มีพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมอันเป็นศิลปแบบอู่ทองและเสมาหินทรายแดงในสมัยลพบุรีและอู่ทอง
๒. เหมืองทองผาภูมิ - ลำน้ำแควน้อย - ปราสาทเมืองสิงห์ - เมืองครุฑ - ลำน้ำแควใหญ่ - บ้านลาดหญ้า (เมืองกาญจน์เก่า) - อู่ทอง (เทือกเขาพระ, เขาดีสลัก, เขาวง, เขาสำเภาจอด) - หนองแจง - เนินทางพระ (สามชุก) - แม่น้ำน้อย - แม่น้ำเจ้าพระยา - กลุ่มเมืองทวารวดี เช่น กลุ่มเมืองอู่ตะเภา สู่ดงแม่นางเมืองและเมืองในลุ่มน้ำปิง หรือแยกเข้าลุ่มน้ำน่านตัดออกสู่อีสาน ฯลฯ
‘เมืองครุฑ’ ตั้งอยู่ถัดจากเมืองสิงห์ไปทางตะวันออกอยู่ในพื้นที่ระหว่างเขาห่างจากลำน้ำแควน้อยประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณขนาดเล็กที่ใหญ่กว่าเมืองกลอนโดไม่มากนัก มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบขนาด ๓๐๐ x ๕๐๐ เมตร รูปสี่เหลี่ยม และพบร่องรอยของศาสนสถานและครุฑทำจากหินทรายขนาดใหญ่ที่น่าจะสัมพันธ์กับอิทธิพลทางพุทธศาสนาแบบเดียวกับปราสาทเมืองสิงห์ ปัจจุบันนำไปจัดแสดงไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์มีรายงานว่าพบพระทำจากตะกั่วและเนื้อชินและเครื่องถ้วยแบบราชวงศ์ซ่งใต้ที่เมืองครุฑนี้ด้วย
ทางริมน้ำแควใหญ่หรือแควศรีสวัสดิ์ พบชุมชนโบราณมีอายุเพียงปลายสมัยลพบุรีลงมาจนถึงสมัยอยุธยาที่ ‘บ้านท่าเสา’ และ ‘บ้านลาดหญ้า’ บ้านท่าเสาตั้งอยู่บนฝั่งด้านเหนือของลำน้ำแควใหญ่ มีซากวัดโบราณเช่น ‘วัดขุนแผนและวัดนางพิมพ์’ ที่พระเจดีย์เก่าในเขตวัดนี้เคยมีผู้ขุดพบพระเครื่องแบบลพบุรีตอนปลาย ส่วนที่บ้านลาดหญ้าซึ่งอยู่ต่ำลงประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร เคยเป็นที่ตั้งของ ‘เมืองกาญจนบุรีเก่า’ ในสมัยอยุธยา
ครุฑ แกะสลักจากหินทราย พบที่เมืองครุฑ อยู่ในเชิงเขาในพื้นที่เดินทางบก
ระหว่างเขาไม่ไกลจากปราสาทเมืองสิงห์นัก