๒. ยุคลพบุรี-ยุคอู่ทอง/สุพรรณภูมิ-ยุคอยุธยา/กรุงเทพฯ
๑. เหมืองทองผาภูมิ - ลำน้ำแควน้อย - ปราสาทเมืองสิงห์ - เมืองกลอนโด - แม่น้ำแม่กลอง - พงตึกและสระโกสินารายณ์ - เมืองนครปฐมโบราณ - เมืองราชบุรี (แม่น้ำอ้อม/แม่น้ำแม่กลอง) ออกสู่อ่าวไทย
‘เมืองกลอนโด’ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย เป็นเมืองที่ใช้ลำน้ำเก่าเป็นคูเมืองด้านหนึ่งและสร้างแนวกำแพงดินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กราว ๒๐๐ x ๒๐๐ เมตร รายการการขุดค้นสรุปว่า พบเครื่องถ้วยแบบชิงไป๋ในราชวงศ์ซ่งใต้ และเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ ก้อนดินเผาที่มีการกดประทับของไม้และตะกรันโลหะที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ว่าเป็นโลหะใด อายุจากเครื่องถ้วยคงอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙
ลงมาตามลำน้ำแม่กลองจะพบ ‘บ้านพงตึก’ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองในอำเภอท่าม่วง ไม่ปรากฏร่องรอยคูน้ำคันดิน แต่พบซากอาคารที่ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่มาก่อน มีการขุดพบตะเกียงโรมันสำริดสมัยพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ พระพุทธรูปศิลปะแบบอมราวดีสมัยพุทธศตวรรษที่ ๗ และพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอีกหลายองค์ ชุมชนแห่งนี้ควรมีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีขึ้นไป
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองกลอนโด น่าจะเป็นเมืองด่านของเมืองสิงห์
ถัดจากบ้านพงตึกลงมาตามลำน้ำแม่กลองประมาณ ๖ กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามทางตะวันออก พบเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๘๐๐ x ๘๐๐ เมตร เมืองนี้มีสระน้ำขนาดใหญ่ราว ๔๐๐ x ๒๐๐ เมตรอยู่ทางเหนือ ชาวบ้านถือว่าเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าอู่ทองเรียกว่า ‘สระโกสินารายณ์’ และจึงเรียกว่า ‘เมืองโกสินารายณ์’ ภายในเมืองมีโคกเนินที่เป็นโบราณสถาน ที่อยู่อาศัย และสระน้ำหลายแห่ง
จากลักษณะของโบราณสถาน ผังเมืองและโบราณวัตถุ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา เทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางเปล่งรัศมี แสดงให้เห็นว่าเมืองโกสินารายณ์นี้มีอายุในสมัยลพบุรี มีศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิฝ่ายมหายานเช่นเดียวกับพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ ลวดลายปูนปั้นประดับเป็นแบบทวารวดีตอนปลายและแบบลพบุรีผสมกัน ปัจจุบันศาสนสถานเหล่านี้ถูกขุดทำลายหมดสิ้นแล้ว
ผังเมืองโกสินารายณ์ ริมลำน้ำแม่กลอง