แหวนทองคำที่มีรูปสัญลักษณ์ ตรีรัตนะ ภาพโดย มนัส โอภากุล พ.ศ. ๒๕๒๐
พบบริเวณหน้าโรงเรียนวัดสวนแตง จากหอจดหมายเหตุมนัส โอภากุล
แยก ‘คลองบางขวาก’ ลำน้ำสุพรรณบุรี ก่อนถึงตลาดสามชุกราว ๑๐ กิโลเมตร ก่อนถึงแพรกน้ำบริเวณริมตลิ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีนราว ๑๐๐ เมตร มีการฝังศพของชุมชนมนุษย์ในยุคเหล็กตอนปลายหรือยุคสุวรรณภูมิ พบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งใน พ.ศ. ๒๕๒๔ และมีการขุดหาสิ่งของไปพอสมควรและยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้น่าจะอีกหลายส่วน เพราะอยู่ในพื้นที่ดูแลของบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาล สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ
โบราณวัตถุเท่าที่พบในพิพิธภัณฑ์วัดบางขวากเป็นพวกลูกปัดขนาดใหญ่เล็กทำจากหินคาร์นีเลียนและอาเกตรูปทรงกลมและรูปทุ่น คุณภาพดีมาก ลูกปัดแก้ว เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน แวดินเผา กำไลสำริด และภาชนะดินเผาทำเป็นเบ้าหลอมโลหะรวมทั้งตะคันปากจีบขนาดย่อมๆ ซึ่งรูปแบบโบราณวัตถุที่พบเกี่ยวเนื่องในยุคสมัยสุวรรณภูมิที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งผลิตลูกปัดที่คอคอดกระรวมทั้งเห็นร่องรอยของกระบวนการหลอมโลหะบางอย่างในพื้นที่นี้
นอกจากนี้ หากเดินทางไปตามลำน้ำบางขวาก ยังสามารถติดต่อไปถึงคลองสีบัวทอง บริเวณที่พบโบราณวัตถุในสมัยก่อนยุคเหล็กเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ในที่ราบลุ่มใกล้ลำน้ำสีบัวทอง บ้านสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง และห่างจากจุดนี้มาตามลำน้ำสีบัวทองในอำเภอวิเศษไชยชาญก็มีรายงานว่าพบลูกปัดแบบสุวรรณภูมิจำนวนหนึ่งโดยไม่แน่ใจว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหรือมีการฝังศพอย่างไร ร่องรอยที่นี่ก็น่าจะใช้ต่อเนื่องยาวนาน เพราะยังคงอยู่ในเส้นทางติดต่อจากสุพรรณภูมิที่มีเส้นทางน้ำเก่าคลองท่าว้าซึ่งเป็นเส้นเดียวกับคลองท่าข่อยหรือท่าคอยไปทางทิศตะวันตกราว ๑.๕ กิโลเมตร และห่างจาก ‘โบราณสถานเนินทางพระ’ ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำท่าข่อยหรือท่าคอยรวมแล้วราว ๗ กิโลเมตร บริเวณแพรกคลองขวากและย่านยาวของลำน้ำสุพรรณบุรีและท่าว้า/ท่าคอย จึงเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมมาตั้งแต่อาจจะก่อนหน้ายุคสุวรรณภูมิจนถึงยุคลพบุรีและอู่ทองจนถึงกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ เนื่องจากสามารถเดินทางไปสู่ชุมชนต่างๆ ในหลากหลายทิศทางนั่นเอง
ลูกปัดทั้งหินกึ่งมีค่า และลูกปัดแก้ว เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดบางขวาก
โดยได้รับบริจาคมาจากโรงงานน้ำตาล สุพรรณบุรี