ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินคาร์เนเลียน และลูกปัดกาเกต
พบมากในกลุ่มชุมชนโบราณบ้านแม่น้ำลำพัน
วลัยลักษณ์ ได้นำลักษณะเด่นที่พบในกลุ่มแหล่งโบราณคดีต้นน้ำแม่ลำพัน มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเชิงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์และตีความออกมาได้ว่า ‘ชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพัน: ชุมชนผลิตเหล็กผู้ร่ำรวย’ ว่า
‘…บริเวณที่สูงทางตอนเหนือของจังหวัดสุโขทัยต่อแดนกับตากและลำปาง ยังไม่มีการพบแหล่งโบราณคดีในช่วงยุคเหล็กและทวารวดีมาก่อน อาจเรียกได้ว่า เป็นรอยต่อของห้วงเวลาระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้ การค้นพบแหล่งโบราณคดีในกลุ่มต้นน้ำแม่ลำพัน จึงเป็นภาพต่อที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในการสร้างภาพอดีตของดินแดนในประเทศไทย
ชุมชนกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นพิเศษ คือเป็นชุมชนผลิตเหล็กและเป็นช่างฝีมือผู้ชำนาญในการผลิตเครื่องมือที่มีความประณีตรูปแบบต่างๆ จนเห็นได้ชัดว่า เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของท้องถิ่น นอกจากนี้ โบราณวัตถุที่พบร่วมกันแสดงถึงการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่ห่างไกล ซึ่งอาจใช้ระบบการแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่แน่ว่า ทรัพยากรในท้องถิ่นคือ เหล็กและเครื่องมือเหล็ก ต้องเป็นสินค้าสำคัญของชุมชน ลูกปัดแก้วลูกปัดหิน ที่นำมาจากแดนไกล เครื่องประดับที่เป็นรูปสัญลักษณ์และเหรียญเงินรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะคือสิ่งแลกเปลี่ยน เป็นประจักษ์พยานได้ดีถึงการติดต่อดังกล่าว
ในภาคกลาง ตั้งแต่ขอบบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ลงมาจนถึงลพบุรี เป็นพื้นที่ของชุมชนในช่วงสำริด-เหล็ก และชุมชนในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนก่อเกิดเป็นบ้านเมืองสมัยทวารวดีที่เห็นได้ชัดที่สุด
ปลายยุคเหล็ก ประชากรน่าจะเพิ่มจำนวนขึ้น กลุ่มชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงกันหลายๆ กลุ่ม พัฒนาไปสู่การมีศูนย์กลางชุมชนและจัดระเบียบทางสังคมที่ซับซ้อนมากกว่าก่อน พร้อมๆ กับการรับกระแสวัฒนธรรมจากอินเดียที่เข้ามาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งทางด้านศาสนาความเชื่อและสินค้ารูปแบบต่างๆ
ช่วงเวลาแห่งพัฒนาการนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดบ้านเมืองที่เห็นชัดเจน เช่นที่ ออกแก้ว เบคถะโน หรือ อู่ทอง บางท่านเรียกช่วงนี้ว่า สมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ ยุคที่ยังไม่ปรากฏรูปเคารพ ระยะเวลาราว ๑๐๐ AD. - ๓๐๐ AD. บางท่านเรียกช่วงนี้ว่า ฟูนัน-สุวรรณภูมิ ราว ๓๐๐ AD. - ๖๐๐ AD. เป็นห้วงเวลาก่อนจะเกิดเป็นรัฐทวารวดี (ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๗ - ๑๑) อย่างแท้จริง