ผู้เข้าชม
0
3 กันยายน 2567

เครื่องประดับแผ่นเงินและทองดุน เป็นแผ่นโลหะเงินและทอง ชิ้นบาง รูปลักษณ์เกือบเป็นวงกลม ส่วนขอบด้านบนม้วนพับเป็นรูทรงกระบอกสำหรับร้อยเชือก น่าจะใช้ประดับคล้องคอ ลวดลายดุนนูนโค้งเป็นรูปใบหน้าสัตว์ ตาโปน หู กลมตั้ง จมูกและปากยื่น มีขนแสกกลางที่ศีรษะ และขนที่แผงคอ แผ่นดุนลวดลายทำจากเงินและทองนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปสัญลักษณ์ของสิ่งใด สิ่งนี้เป็นความเชื่อเนื่องในวัฒนธรรมแบบทวารวดียุคแรกๆ สัตว์ที่เป็นมงคลสัญลักษณ์ 

เหรียญรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ เป็นโลหะผสมแผ่นบางรูปกลม ที่พบมี ๔ ขนาดแตกต่างกันไปอาจจะหมายถึงตามค่าของสิ่งของแลกเปลี่ยน ด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงแผ่รัศมี มีจุดไข่ปลาเรียงรอบขอบเหรียญ

เครื่องประดับสำริด เท่าที่พบทำเป็นกำไลข้อมือเนื้อบางไม่มีการตกแต่ง ซึ่งอาจจะใช้เทคนิควิธีรีด ตี เชื่อมประสาน เนื้อโลหะสำริด กำไลข้อมือขนาดต่างๆ มีลวดลายประดับรูปครึ่งวงกลมขนาดเล็กๆ เรียงต่อกันเป็นแถวที่วงรอบนอก บางชิ้นมีลูกกระพรวนห้อยประดับอยู่ ๒-๓ ลูก แหวนขนาดต่างๆ ใช้ลูกกระพรวน ๒ ลูกประดับทำเป็นหัวแหวน เทคนิคการผลิตเครื่องประดับสำริดเช่นนี้ นับว่าซับซ้อนอยู่ไม่น้อย ลูกกระพรวนนั้นเป็นเทคนิควิธีการทำแบบแทนที่ขี้ผึ้ง 

ภาชนะดินเผา เนื้อดินคุณภาพไม่ดีนัก ลายขุด ลายเชือกทาบ และผิวเรียบ รูปทรงภาชนะเท่าที่พบเป็นรูปหม้อก้นกลม ภาชนะคล้ายชามขนาดต่างๆ

เครื่องมือเหล็ก เนินโล่ง พื้นที่กว่า ๑๐ ไร่ พบเศษตะกรันแร่เหล็กกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ บางแห่งเห็นได้ชัดว่า เป็นพื้นที่ของการเตรียมย่อยหิน เตรียมแร่ เพื่อใช้ในการถลุง พื้นที่บริเวณนี้นับว่าเป็นแหล่งถลุงโลหะขนาดใหญ่ที่ถูกรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ ที่พื้นที่แห่งนี้ อาจไม่ได้ใช้ผลิตโลหะเพียงแค่เหล็กอย่างเดียว เพราะพบก้อนแร่ตะกั่วรวมอยู่ด้วย

ผลิตภัณฑ์จากชุมชนต้นน้ำแม่ลำพันเท่าที่พบ มีดังนี้ ใบหอกขนาดต่างๆ/ แท่งฉมวก/ ขวานต่อด้ามแบบสั้นและยาว/ แท่งเหล็กกลมตันหน้าตัดคล้ายแท่งชะแลง/ แท่งเหล็กกลมเรียวปลายแหลม/ ดาบยาวปลายด้ามทำเป็นรูปกลมเจาะรู ด้ามจับคงจะใช้แบบหุ้มพันด้าม/ ขวานแบบมีคมสองด้าน ตรงกลางมีรูปสำหรับสอดด้าม/ เตาสามขา เป็นเตาเหล็กที่คงสภาพสมบูรณ์มาก แสดงถึงความประณีตและวิธีคิดประดิษฐ์อันน่าทึ่งของผู้คนกลุ่มนี้

โบราณวัตถุที่พบบริเวณบ้านวังหาด