ผู้เข้าชม
0
3 กันยายน 2567

จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพันที่ผ่านมา พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นประจักษ์พยานถึงกลุ่มชุมชนระยะแรกเริ่มสืบเนื่องจนถึงสมัยสุโขทัย โดยพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือขวานหินขัด กำหนดอายุในเบื้องต้นประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว กลองมโหระทึกสำริด เครื่องมือโลหะ และหลักฐานที่เกี่ยวกับงานโลหะกรรม ที่แสดงให้เห็นว่า ชุมชนบริเวณนี้มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากร และผู้มีองค์ความรู้ในการใช้สินแร่ ประกอบกับเป็นพื้นที่สำคัญบนเส้นทางที่จะใช้ในการเชื่อมโยงโครงข่ายชุมชนต่างๆ สอดคล้องกับการกระจายตัวของแหล่งถลุงโลหะจำนวนมากในเขตพื้นที่เทือกเขาสูงตอนบนของประเทศไทย ซึ่งชุมชนเหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญขึ้นของชุมชน และพัฒนาเป็นเมืองต่างๆ ในสมัยสุโขทัยในที่ราบลุ่มตอนล่างในที่สุด 
 

ชิ้นส่วนกลองมโหระทึกจากพิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด

สรุปผลการศึกษาว่า ระยะแรก ผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ เข้ามาใช้ทรัพยากรและเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ในสมัยหิน ระยะที่สอง พบการเข้ามาใช้พื้นที่อาจจะช่วงสมัยสําริดหรือปลายโลหะ พบการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก ระยะที่สาม ร่วมสมัยกับทวารวดี ซึ่งในพื้นที่ทางตอนเหนือมีเมืองหริภุญชัย และพบเหรียญเงิน เป็นต้น แต่ไม่พบการขยายตัวเป็นเมืองและการรับศาสนาเข้ามา อาจเป็นไปได้ว่าพื้นที่ดังกล่าว เป็นเสมือนพื้นที่หลักในการรับและกระจายสินค้า โดยเฉพาะการเป็นผู้ควบคุมเส้นทางทางตอนเหนือ?

ส่วนระยะที่สี่ พบหลักฐานแต่ค่อนข้างเบาบางในพื้นที่ลุ่ม แต่ในเขตเทือกเขายังพบร่องรอยการติดต่อแลกเปลี่ยนในสมัยที่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงที่เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยสุโขทัยแล้ว สอดคล้องกับการพบเครื่องถ้วยสุโขทัยและเครื่องมือเครื่องประดับสมัยหลังตามเส้นทางการติดต่อและชุมชนโบราณ ตามแนวเขาและสันเขาต่อเนื่องไปจนถึงพม่า

‘ชุมชนต้นน้ำแม่ลำพัน’ บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้นำเสนอและกล่าวถึง บ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ว่าเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดี อันเนื่องมาจากมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เครื่องประดับสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดหินมีค่าต่างๆ ที่น่าจะแสดงถึงกลุ่มชุมชนที่มีอายุอยู่ในช่วงยุคเหล็กลงมาว่า มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณตอนเหนือของจังหวัดสุโขทัยและในปริมณฑลมาก่อน 

อีกทั้งเมื่อกล่าวถึงสุโขทัย ย่อมมีการติดเพดานความคิด เรื่องรัฐสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ ๑๙  และแนวความคิดเรื่องการอพยพของชนชาติไทยเป็นหลัก เรื่องราวของผู้คนและชุมชนก่อนหน้านั้น แทบจะไม่ปรากฏร่องรอยอื่นใดเลย นอกจากในตำนานที่เขียนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งมิได้ร่วมสมัยในเหตุการณ์โดยตรง

ด้วยเหตุดังกล่าว แหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญแห่งนี้จึงควรถูกพิจารณาเป็นพิเศษ ต้นน้ำแม่ลำพันอยู่ในหุบเขาเขตอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไหลลัดเลาะเป็นลำธารสายเล็กๆ น้ำมากไหลแรงในฤดูน้ำ และเกือบจะแห้งผากในช่วงแล้ง