‘คน’ แลเห็นได้จากทางชาติพันธุ์ในตระกูลภาษา ‘พื้นที่’ เห็นได้จากร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง (cultural landscape) ที่เกิดขึ้นในมิติทาง ‘เวลา’ ยุคและสมัย โดยกล่าวถึงเมืองคู่บนลำน้ำยมและน่านว่า
‘…ภาพรวมของอาณาบริเวณที่เป็นเขตแคว้นสุโขทัย เป็นพื้นที่ซึ่งลำน้ำปิงและทิวเขาเป็นขอบเขตทางด้านตะวันตก และลำน้ำน่านและทิวเขาทางด้านตะวันออก ซึ่งลำน้ำทั้งสองนี้เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในการติดต่อกับบ้านเมืองภายนอกในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นบริเวณที่มีความเจริญจากภายนอกเข้ามาได้เร็วกว่า ก่อนที่จะกระจายลงไปยังพื้นที่ชุมชนตามหนอง บึง และลำน้ำกลางทุ่งของที่ราบลุ่ม
รัฐแรกเริ่มของสุโขทัยที่พัฒนาขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำยมทางตะวันตกและลุ่มน้ำน่านทางตะวันออกนั้น มีความเจริญเติบโตเป็นบ้านเมืองมาก่อนในที่ลาดเชิงเขาหลวง ทางตะวันตกของลำน้ำยม เพราะเป็นบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุ โดยเฉพาะเหล็กและของป่านานาชนิด อีกทั้งเป็นแหล่งที่มีแม่น้ำ โดยลำน้ำหลายสายไหลลงจากเขามาสู่ที่ลุ่ม ทำให้เป็นไร่เป็นนาได้มากกว่าที่อื่นๆ
พื้นที่สำคัญดังกล่าวอยู่ในบริเวณตำบลวังหาดและตลิ่งชัน ในเขตอำเภอบ้านด่านลานหอย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมในการถลุงเหล็ก ทำเครื่องมือเหล็กและเครื่องประดับ เช่น ลูกปัดแก้วและดินเผา ได้รับความเจริญจากภายนอก โดยเฉพาะจากทางภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยทวารวดีมาทางลุ่มน้ำปิงที่ผ่านแนวเขาสันปันน้ำจากเมืองตากเข้ามายังบริเวณต้นน้ำแม่ลำพันในเขตบ้านด่านลานหอย และขยายมาตามเชิงเขาหลวงในเขตอำเภอเมืองเก่าสุโขทัยไปตามเชิงเขา โค้งเขาทางใต้จนถึงเขตอำเภอคีรีมาศ
อันเป็นบริเวณที่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อจากสุโขทัยไปยังบ้านเมืองในลุ่มน้ำปิง ตั้งแต่กำแพงเพชรลงไปถึงนครสวรรค์ และจากกำแพงเพชรไปทางตะวันตก จะผ่านเทือกเขาไปยังลุ่มน้ำสาละวินในดินแดนมอญ-พม่า ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าบริเวณเชิงเขาหลวงและต้นน้ำแม่ลำพันนั้น คือแหล่งเกิดชุมชนบ้านเมืองที่มีมาแต่สมัยทวารวดี
สรีดภงค์และแนวเขาหลวงที่อยู่ทางด้านหลัง
พอถึงสมัยลพบุรีจึงเกิดการตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นในบริเวณวัดพระพายหลวง ที่มีปุระ วัดพระพายหลวง เป็นศูนย์กลาง อันเป็นลักษณะเมืองแบบขอม ที่พบในประเทศกัมพูชา ในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นเวลาที่บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายในภาคกลาง เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา อุปถัมภ์พุทธศาสนามหายานและรับศิลปวัฒนธรรมแบบขอมเข้ามา แต่เมืองสุโขทัยไม่ได้เกิดเป็นชุมชนเมืองในศิลปวัฒนธรรมลพบุรีเพียงแห่งเดียว ยังเกิดพร้อมกันกับเมืองเชลียง ที่ต่อมาเรียกว่า ศรีสัชนาลัย ที่นับเป็นเมืองปลายสุดการคมนาคมของลุ่มน้ำยมในเขตแคว้นสุโขทัย เพราะการคมนาคมตามลำน้ำนี้ด้วยเรือใหญ่ จากปากน้ำโพขึ้นไปได้เพียงแก่งหลวงของเมืองศรีสัชนาลัย เหนือขึ้นไปจากนั้นติดเกาะแก่งกลางน้ำ