พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด ตั้งอยู่ในวัดจอมศรีรัตนมงคล
จังหวัดสุโขทัย ที่มา: ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม
พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด ซึ่งตั้งอยู่ในวัดจอมศรีรัตนมงคล ที่เป็นวัดของชุมชน อาคารหลังเล็กๆ แห่งนี้รวบรวมโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีทั้งเด่นปางห้า และห้วยแม่กองค่าย ตลอดจนบริเวณในชุมชนและละแวกใกล้เคียงที่ชาวบ้านพบ จัดแสดงเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวและให้ความรู้แก่คนทั่วไป
โบราณวัตถุจากบ้านวังหาดในช่วงยุคเหล็กตอนปลายนี้ แม้จะยังไม่มีการกำหนดอายุที่แน่นอนจากการขุดค้นก็ตาม แต่จากการประเมินอายุพบว่าอยู่ในช่วง ๒,๕๐๐ ปีลงมา โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่พบจากนักสะสมนอกพื้นที่ในอดีตนั้นอยู่ในช่วงยุคเหล็ก
งานวิจัย ‘เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย’ ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม จากการสำรวจศึกษาทางโบราณคดีพบแหล่งชุมชนโบราณถึง ๕๓ แห่ง ในบริเวณจังหวัดที่เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรสุโขทัย อันได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์นั้น ทำให้ได้ทราบว่าก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บริเวณดังกล่าวนี้ มีผู้คนมาตั้งหลักแหล่งอยู่ประปรายและชั่วคราว ตามเส้นทางการคมนาคมโบราณที่ไปยังที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน ทางเหนือ และบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบนทางตะวันออก
แต่ภายหลังเกิดมีการขยายตัวของเส้นทางการค้าของบรรดาบ้านเมืองที่เจริญทั้งที่อยู่ใกล้ทะเลและบริเวณภายใน อันได้แก่ ละโว้ กัมพูชา เมาะตะมะ พุกาม หริภุญชัย และเวียงจันทน์ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากถิ่นต่าง ๆ เข้ามา สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้น
ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ก็เกิดเมืองใหญ่ที่เรียกว่า ‘นคร’ ขึ้น ๔ แห่งในบริเวณลุ่มน้ำยม-น่านในเขตจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์และสุโขทัย มีการรวมตัวกันเป็นรัฐสุโขทัยในยุคแรกขึ้น รัฐนี้ได้เติบโตและรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางการแพร่พระพุทธศาสนา
‘กำเนิดสุโขทัย รัฐแรกเริ่มของชนชาติไทยในสยามประเทศ’ บทบรรณาธิการโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิ-โภดม ได้อรรถาธิบายถึงการศึกษาพัฒนาการของรัฐในดินแดนประเทศไทยทางมานุษยวิทยาโบราณคดี โดยใช้แนวคิดในเรื่องคน พื้นที่ และเวลา เป็นหลัก