ผู้เข้าชม
0
3 กันยายน 2567

ชุมชนน้อยใหญ่ เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้มากมาย ดังที่เคยเห็นว่าเป็นพัฒนาการเฉพาะในเขตภาคกลาง ส่วนพื้นที่เหนือขึ้นไปนั้นมองไม่เห็นสภาพการณ์อย่างนี้แน่ชัด กลุ่มชุมชนต้นน้ำแม่ลำพันนี้ คือข้อมูลซึ่งเป็นหลักฐานกลุ่มแรกที่แสดงให้เห็นขอบข่ายของสังคมที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน มีความสัมพันธ์กัน กินบริเวณลึกเข้าสู่ดินแดนภายในบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำปิง มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า ขณะเดียวกันนั้น ผู้คนที่ต้นน้ำวังใกล้พระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพันอีกด้วย (โดยดูจากรูปแบบของโบราณวัตถุและเครื่องมือเหล็ก) ย่อมแสดงให้เห็นถึงอาณาเขตของการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชนในพื้นที่ห่างไกลผ่านที่สูงและเทือกเขาทางตอนเหนือสู่ที่ราบลุ่มในแอ่งลุ่มน้ำวัง ทำให้เห็นว่า ผู้คนในช่วงเวลานี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ มิใช่เป็นเพียงผู้คนในตำนานที่อยู่บนที่สูง (มิลักขุ) ที่เรามักใช้อธิบายถึงกลุ่มคนก่อนการสร้างบ้านแปงเมือง โดยเฉพาะในภาคเหนือกันโดยมาก…’

วลัยลักษณ์ ได้สรุปในบทความไว้ว่า กลุ่มชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพันเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มวัฒนธรรมยุคเหล็กต่อเนื่องกับยุคแรกเริ่มรับวัฒนธรรมอินเดียที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เป็นผู้ชำนาญการทางการผลิตโลหะและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ประณีตประโยชน์ใช้สอยสูงและทันสมัย นิยมใช้สิ่งของจากต่างถิ่น ซึ่งคงผ่านระบบการแลกเปลี่ยนผ่านคนกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนโบราณอื่นๆ แล้ว นับว่าเป็นกลุ่มผู้ผลิตผู้ร่ำรวย และไม่ใช่เป็นชุมชนที่ผลิตโลหะและเครื่องมือเครื่องใช้เพียงอย่างเดียว แต่มีการทำเกษตรกรรมด้วย 

‘…ดังจะเห็นว่า มีพื้นที่การผลิตในหุบเขาสำหรับถลุงเหล็ก มีแหล่งชุมชนใกล้ลำน้ำแม่ลำพันบนพื้นราบสำหรับอยู่อาศัยและทำการเกษตร อันเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่น่าจะเรียกว่า ชุมชนโบราณ กลุ่มต้นน้ำแม่ลำพัน ชุมชนกลุ่มต้นน้ำแม่ลำพันร่วมสมัยกับชุมชนโบราณมากมายในเขตภาคกลาง ซึ่งมีพัฒนาการของชุมชนชัดเจน หากจะมองให้กว้างขึ้นไปอีก ความสัมพันธ์เหล่านี้แสดงออกถึงสังคมที่ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ไม่ว่าจะภายในเขตประเทศไทยหรือดินแดนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับแต่จีนตอนใต้ลงมา จนถึงชายฝั่งเวียดนาม และภาคกลางของไทย พลวัตแห่งความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเหล่านี้ ก่อให้เกิดรัฐและบ้านเมืองต่างๆ ในภายหลัง...’

 


 

อ้างอิง

‘ชุมชนต้นน้ำแม่ลำพัน’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑, มกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๐

‘เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย’ งานวิจัยของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

‘กําเนิดสุโขทัย รัฐแรกเริ่มของชนชาติไทยในสยามประเทศ’ บทบรรณาธิการโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ปีพ.ศ. ๒๕๖๒

อดีตในอนาคต ตอนที่ ๑๘ “นครรัฐสุโขทัยในสยามประเทศ” ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑

‘จันเสนเมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี - ป่าสัก สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก’ โดย ศรีศักร วัลลิโภดม  

'คนในสมัยก่อนสุโขทัย: มิติและมุมมองทางประวัติศาสตร์โบราณคดีจากอดีตถึงปัจจุบัน’ โดย ธีรศักดิ์ ธนูศิลป์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ ศูนย์ข้อมูลทวารวดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย กรมศิลปากร

‘โครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย’ โดย จารึก วิไลแก้ว นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๓ เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ปี พ.ศ.๒๕๔๔



คำสำคัญ : สุโขทัย,ก่อนประวัติศาสตร์,การถลุงเหล็ก,ลุ่มแม่น้ำลำพัน
พรเทพ เฮง
อีเมล์: [email protected]
จบการศึกษาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกโบราณคดี รุ่น ๓๘ ทำงานด้านสื่อ ด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และสาระบันเทิงมาค่อนชีวิต