วัดเกาะศาลพระ ถิ่นของชาวเขมรลาวเดิม
ชาวบ้านที่วัดเกาะศาลพระ แม้ถูกเรียกว่าชาวเขมรลาวเดิม แต่คำพูดหลายคำที่เหลืออยู่เป็นคำลาว บางท่านว่าบรรพบุรุษอาจจะเป็นชาวญ้อ ที่เป็นกลุ่มคนลาวจากทางเมืองหงสาแต่เดิม ซึ่งอาจจะเป็นไปได้มาก
วัดเกาะศาลพระอยู่ทางฝั่งตะวันตกริมคลองแม่น้ำอ้อมใน หมู่ ๘ ในตำบลเกาะศาลพระ ยังมีร่องรอยทางน้ำเก่าที่บางส่วนถูกลบไปแล้ว น่าจะเคยเป็นเกาะตามธรรมชาติมาก่อน พื้นที่ภายในวัดค่อนข้างร่มรื่นเนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่ๆ พวกต้นไม้ตระกูลยางยังพอมีอยู่ และรอบๆ พระอุโบสถหลังเก่ายังมีต้นอินจันกล่าวกันว่ามีถึง ๘ ต้น แต่ละต้นขนาดใหญ่จนประเมินอายุน่าจะมากกว่าร้อยปีขึ้นไป และอาจมากกว่า ๒๐๐ ปี ตามประวัติตามช่วงเวลาการอพยพเข้ามาของผู้คนที่เรียกว่าชาวเขมรลาวเดิมตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และยังมีต้นอินจันอีกหลายต้นทั้งทางหน้าศาลาการเปรียญและกุฎิสงฆ์
ลูกอินนั้นผลกลมส่วนลูกจันนั้นผลกลมแบน ต้นอินจันมีทั้งสองสายพันธุ์อยู่ในต้นเดียวกัน และตั้งข้อสังเกตว่าต้นอินจันเหล่านี้เรามักพบตามวัดเก่าหรือตามวัดที่มีโบราณสถานเป็นปราสาทหินทางแถบพระตะบอง ก็พบต้นอินจันต้นใหญ่ๆ เป็นจำนวนมากเช่นกัน
พระอุโบสถหลังเก่า แม้จะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วก็ยังเห็นว่าเคยเป็นแบบตกท้องช้างหรือท้องสำเภา โค้งเล็กน้อย หน้าบันเป็นการปั้นปูนลวดลายพรรณพฤกษาและมีลิงและกระรอกป่ายปืนอยู่ช่วงล่าง และเคยประดับด้วยถ้วยกระเบื้องเคลือบซึ่งหลุดหายไปหมดแล้วมาก่อน ส่วนหน้าบันบนประตูทางเข้าเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณในพรรณพฤกษา งดงามมาก ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่หน้าตักราว ๓ เมตรประดิษฐานอยู่เป็นประธาน ด้านซ้ายและขวามีพระโมคคลาน์และพระสารีบุตร
ช่อฟ้าใบระกาแบบสั้นๆ มีหลังคาพาไลโดยรอบและมีเสาขนาดใหญ่รองรับ ซุ้มประตูทางเข้าทำเป็นแบบฐานสิงห์ ด้านบนเป็นปรางค์ขนาดสั้น รูปทรงพระอุโบสถและซุ้มประตูทางเข้าที่กำแพงแก้วเช่นนี้ทำให้นึกถึงพระอุโบสถและซุ้มประตูแบบวัดที่พบในประเทศกัมพูชา
ส่วนพระเจดีย์ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสององค์ใหญ่ ทั้งรูปแบบและขนาดย่อมกว่าเจดีย์ประธานที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์หรือเจดีย์ศรีสุริโยทัยในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แลเห็นเด่นชัดว่าเคยเป็นวัดสำคัญมาก่อนในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่นิยมสร้างพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองบนฐานเขียงยกสูงและฐานสิงห์รวมทั้งมีซุ้มจรนัมทั้งสี่ทิศ องค์ระฆังสี่เหลี่ยมบนฐานบัวสูงและยอดเป็นบัวคลุ่มจนถึงแกนเม็ดน้ำค้าง อายุสมัยควรมีอายุตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิลงมา มีการเขียนลวดลายและระบายสีที่ฐานหน้ากระดานที่องค์เจดีย์ น่าจะเป็นการเขียนในรุ่นซ่อมแซมใหญ่แล้ว ลวดลายมีอิทธิพลจีนอยู่มาก และถือว่าน่าจะซ่อมในรุ่นเดียวกับพระอุโบสถในยุคหลังกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเจดีย์ที่มีความงาม รูปทรงลงตัวและยังมีสภาพที่ดีอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ยังมีศาลาท่าน้ำ สร้างด้วยไม้ ที่มีสภาพทรุดโทรมมาก จนกลัวว่าจะหักพังทลายเสียในเร็ววัน แต่ชาวบ้านบอกว่ามีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว และรอการซ่อมแซมจากกรมศิลปากร และจะไม่มีผู้ใดเข้าไปยุ่งเกี่ยว
พระอุโบสถ วัดเกาะศาลพระ
คำสำคัญ :