ผู้เข้าชม
0
21 สิงหาคม 2563

 

เพลงเก่าเพลงหนึ่งซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีคือ ‘เขมรโพธิสัตว์’ ไม่ทราบผู้แต่งแต่น่าจะกำเนิดมาจากกกลุ่มชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเพลงที่นักดนตรีไทยเดิมไม่ทราบชื่อแต่งให้เป็นเพลงสำเนียงเขมร นอกจากนี้ยังมีเพลงไทยสําเนียงเขมรอีกหลายเพลงที่ตั้งชื่อตามแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเขมรเหล่านี้เช่น เขมรราชบุรี เขมรปากท่อ เขมรเขาเขียว

ทำนองเพลงเขมรโพธิสัตว์มีความไพเราะ จึงนิยมนำมาขับร้องและบรรเลงโดยทั่วไป ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้นำเพลงเขมรโพธิสัตว์ ๒ ชั้น มาแต่งเป็นเพลงเถา  ท่านมีลูกศิษย์มากและหลายท่านที่มีชื่อเสียงเป็นครูผู้ใหญ่ในยุคต่อมาเช่น พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) พระยาเสนาะ ดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ครูเพชร จรรย์นาฎ พระประดับดุริยกิจ (แหยม) พระพิณบรรเลงราช (แย้ม) เป็นต้น ครูช้อยเป็นบุตรครูทั่งครูดนตรีผู้ใหญ่รุ่นใกล้เคียงกับพระประดิษฐ์ไพเราะหรือครูมีแขกซึ่งเคยอยู่ในอุปถัมภ์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

เพลงเขมรโพธิสัตว์เป็นเพลงไทยเดิมที่ไพเราะมากเพลงหนึ่ง โดยเฉพาะในอัตราจังหวะ ๒ ชั้น เพลงนี้นิยมเล่นกันในงานมงคล มีการนำเอาเพลงเขมรโพธิสัตว์ไปใช้ประกอบการฟ้อนรำ ต่อมาเพลงลูกกรุงทำนองไทยเดิมเขมรโพธิสัตว์ สองชั้นคือเพลงเพลงเขมรโพธิสัตว์แปลงหรือเพลง ‘นวลแข’ และเพลง ชั้นเดียว คือเพลง ‘นางอาย’

เพลงทำนองเขมรต่างๆ จึงสัมพันธ์กับกลุ่มชาวเขมรที่เข้ามาแต่แรก แต่ก็เพียงชื่อและร่องรอยบางอย่างเท่านั้น เพราะถูกปรับจากการอยู่อาศัยในท้องถิ่นร่วมกับชาวลาวกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาเป็นระลอกๆ โดยตลอดในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกทำให้เป็นเพลงอย่างไทยในสำนักดนตรีจากเมืองหลวงที่อุปถัมภ์โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นั่นเอง