ตรวจสอบตระกูลกรมการเมืองที่ได้รับพระราชทานนามสกุลในครั้งรัชกาลที่ ๖ พบนามสกุล ‘ยมะคุปต์’ ผู้ขอพระราชทานคือ พระแสนท้องฟ้า (ป่อง) กรมการพิเศษเมืองราชบุรี ต้นตระกูลที่เป็นปู่ทวดคือ พระยายมราช (ควร) เขมร ผู้เข้ามาคราวกรุงธนบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๑๔ ปู่คือพระบวรนายก (ณี) บิดาคือ พระยาวิเศษสงคราม (มาด) ถือเป็นสายตระกูลตรงของขุนนางชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในระลอกแรก ซึ่งน่าจะสืบสายตระกูลปกครองชาวเขมรและลาวในเมืองราชบุรีซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่มาตั้งแต่บัดนั้น
ช่วงราวปลายรัชกาลที่ ๔ มีการขุดคลองในบริเวณภูมิภาคตะวันตกอันเนื่องมาจากผลของสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (พ.ศ. ๒๓๙๘) โดยเฉพาะทางแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนหลายสาย แต่การขุดคลองที่สำคัญคือคลองภาษีเจริญจากทางฝั่งธบุรีเชื่อมกับทางแม่น้ำท่าจีน และคลองดำเนินสะดวก (พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๑๑) ที่เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้ควบคุมดูแลและออกงบประมาณราว ๑,๐๐๐ ชั่ง โดยรัชกาลที่ ๔ พระราชทานพระราชทรัพย์ ๔๐๐ ชั่ง และใช้กำลังของทหาร ข้าราชการ ชาวบ้าน และชาวจีนร่วมกันขุด และทรงอนุญาตให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ และคนในสายตระกูลบุนนาคเข้าจับจองที่ดิน ๒ ฝั่งคลอง แต่ก็ปล่อยรกร้างไปจนมีการจัดระเบียบในคราวรัชกาลที่ ๕ หลังจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถือเป็นผู้มีบารมี ท่านสร้างทำเนียบที่พักอยู่ที่ถนนวรเดช ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ซึ่งเป็นปีที่พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในขณะที่ศูนย์กลางที่ทำการของรัฐตั้งอยู่ที่เมืองใหม่ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง และในเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปพระราชทานแผ่นสุพรรณบัฏจารึกตำแหน่ง ‘สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์’ พร้อมด้วยเครื่องยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม เช่น เสลี่ยงงา กลด และดาบประดับพลอยลงยา และโปรดเกล้าฯ ให้มีอำนาจสั่งการเด็ดขาดในราชการทุกอย่างทุกกรม รวมทั้งการสั่งประหารชีวิตผู้กระทำความผิดได้ ณ บ้านพักหลังนี้
ท่านชอบออกไปตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ และพำนักอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ รวมเวลากว่า ๙ ปี จึงถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมที่ปากคลองกระทุ่มแบน ขณะกำลังเดินทางกลับจากราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕
หลังจากนั้นทำเนียบหรือบ้านนี้ตกเป็นของหลวง และใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรีสมัยที่พระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีคนแรกในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (เทียน บุนนาค) มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี จึงได้ย้ายที่ว่าการเมืองจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองมารวมกับศาลาว่าการมณฑลเรียกว่า ศาลา‘รัฐบาลมณฑลราชบุรี’ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ในรัชกาลที่ ๖ จึงมีการสร้างศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรีหลังใหม่ ปัจจุบันคืออาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี จึงใช้เป็นจวนเจ้าเมืองราชบุรีแทน
นอกจากอาคารที่พำนักและสร้างวัดศรีสุริยวงศ์ ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ ท่านยังสร้างตึกแถวเป็นอาคารร้านค้าเพื่อให้คนมาเช่าทำกิจการต่างๆ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ชอบดูละคร นับสนุนให้มีละครหญิงขึ้นและฟังดนตรี ทั้งวงปี่พาทย์ของท่านยังเป็นวงที่มีชื่อเสียงมากวงหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ คณะละครและวงปี่พาทย์ของท่านได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพระนครยุคนั้น เมื่อมาอยู่ที่ราชบุรีจึงมีสำนักดนตรีปี่พาทย์ที่ขึ้นชื่อและน่าจะเป็นต้นกำเนิดให้มีการปรับเพลง ‘เขมรโปสัต’ มาเป็นเพลง ‘เขมรโพธิสัตว์’ ด้วย
ท่านให้การสนับสนุนนักร้อง นักดนตรี และละคร ครูที่มีชื่อเสียงเยี่ยมยอด เช่น หม่อมสุด ครูมีแขก ครูทัต จ่าโคม และ ‘พระแสนท้องฟ้า’ ที่เป็นปี่พาทย์และนักขับเสภาที่มีชื่อเสียงมากในสำนักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยาวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในครั้งรัชกาลที่ ๕
และพระแสนท้องฟ้าคนนี้น่าจะเป็นพระแสนท้องฟ้า (ป่อง) ผู้เป็นนายอำเภอและกรมการเมืองพิเศษในเวลาต่อมาด้วย เพราะสืบตระกูลมาจากพระยายมราช (ควร) ผู้เป็นทวดและเป็นเขมรจากโพธิสัตว์หรือเมืองบารายที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระแสนท้องฟ้า (ป่อง) ยังเป็นบิดาของ ครูสงัด ยมะคุปต์ ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถเป็นอย่างยิ่งในเรื่องปี่พาทย์ และมีความสามารถพิเศษในการขับเสภาของกรมศิลปากรในเวลาต่อมา ท่านแต่งงานกับ ครูลมุน ยมะคุปต์ ครูผู้ใหญ่ในวงการนาฎศิลป์ไทย นอกจากนี้ในเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นนักดนตรีปี่พาทย์แห่งราชบุรีสืบต่อมาก็มีเช่น ‘ครูรวม พรหมบุรี’ ที่เรียนกับท่านเจ้าอาวาสวัดช่องลมในยุคนั้น