ผู้เข้าชม
0
29 มิถุนายน 2563

 

สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศในยุคไวรัสโควิด ๑๙ ระบาดครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า มฤตยูโควิด ๑๙ มีทั้งการทำลายล้างและการสร้างสรรค์ตามความเชื่อในทางพุทธศาสนาที่คนทำบาปและมีบาปก็ต้องชดใช้กรรมล้มตายไป ส่วนคนที่ทำบุญและมีบุญ มีเมตตาธรรมก็คือคนที่รอด

แต่ก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่าคงจะอยู่รอดในช่วงเวลานี้เท่านั้นในหมู่ของคนที่ยังมีการมองโลกแบบตะวันออกที่กำลังจะกลายเป็นคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นใหม่ที่มองโลก มองสังคมและวัฒนธรรมแบบคนตะวันตกที่เป็นพวกวัตถุสังคม เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และคลั่งไคล้เสรีภาพในการปกครองทุนนิยมประชาธิปไตยที่ลอกเลียนแบบมาจากอเมริกัน กำลังจะเติบโตเป็นคนส่วนใหญ่และรุ่นใหม่ของประเทศ กำลังเคลื่อนไหวและเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที

ในช่วงเวลาขณะนี้ที่การดำเนินงานของทางรัฐบาลในด้านสาธารณสุขที่ทำให้ได้ชัยชนะเหนือความตายของโควิด ๑๙ นั้น ก็เพราะนายกรัฐมนตรีมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ในเรื่องสุขภาพเหนือเสรีภาพนั่นเอง 

ถ้าหากนำมาเป็นอุดมการณ์สำคัญในระบอบการปกครองต่อไปว่า สังคมไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อมีชีวิตที่ดี มีสุขภาพทางกายและใจ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีเสรีภาพอยู่เหนืออื่นใดแล้ว ก็น่าจะนำมากล่าวได้เต็มปากว่า นี่แหละคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ

เมื่อมาถึงตรงนี้ข้าพเจ้าก็อดนึกไม่ได้ว่าที่จริงใน ยุคสงครามเย็น นั้น ประเทศทั้งสองค่ายในโลกต่างก็อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน คือ เสรีทุนนิยมประชาธิปไตย  กับ สังคมนิยมประชาธิปไตย  ที่ประเทศไทยและคนไทยเรียกว่าเป็นระบบการปกครองเผด็จการคอมมิวนิสต์

เมื่อโควิด ๑๙ อุบัติขึ้นนั้นเกิดขึ้นในประเทศจีนที่เป็นประเทศผู้นำในระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยลุกลามใหญ่โต คนจีนติดเชื้อและตายมากที่สุด แต่จีนกลับแก้ไขโดยทุ่มการดำเนินการทุกอย่างในทางสาธารณสุข ทั้งการสร้างโรงพยาบาล การเพิ่มบุคคลากรทางการแพทย์ แล้วใช้ระบบเผด็จการบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่มีการโต้เถียง โรคภัยก็สงบลงในเวลารวดเร็ว และจีนก็เปิดประเทศได้ตามปกติ

และสิ่งสำคัญที่ข้าพเจ้าประทับใจกับประธานาธิบดีของจีนที่ประกาศว่า รัฐบาลจีนจะไม่ยอมให้คนจีนต้องตายด้วยโรคร้ายนี้แม้แต่คนเดียว ดูแล้วก็คือการให้ความสำคัญกับชีวิตและสุขภาพของประชาชนเหนืออื่นใดในระบอบการปกครอง


 

ข้าพเจ้าก็เลยนึกปลงสังเวชว่า เป็นเวรกรรมอันใดที่ทำให้ต้องมาเลือกการปกครองแบบทุนนิยมเสรี ที่เป็นเรื่องการเน้นความเป็นเสรีภาพของปัจเจกชนที่มีความเหลื่อมล้ำคนจนและคนรวย ดังที่แลเห็นอยู่ทุกวันในขณะนี้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หดหู่ใจในช่วงวิกฤตการณ์โควิด ๑๙ นี้ก็คือ ความไร้เดียงสาและไร้จิตสำนึกของบรรดานักการเมืองรุ่นใหม่ที่ปลุกระดมให้คนเป็นปรปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการนำเอาประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มีการทำลายเพื่อล้มล้างพระมหากษัตริย์ โดยมีการทำลายคุกบาสตีลเป็นสัญลักษณ์ เพราะประชาชนถูกกดขี่จากทางรัฐ ทำให้เกิดความยากจนและอดอยาก จึงต้องตะโกนออกมาว่า “แปง แปง” คือเรียกหาขนมปัง นั้นคือฝรั่งเศส

แต่เมืองไทยภายใต้การปกครองที่แบบราชาธิปไตยที่มีมานับเป็นพันปีไม่เคยปรากฏมีความทุกข์ยาก อดอยากของประชาชน จนต้องมีการปฏิวัติโดยคนที่เป็นประชาชนคนเบื้องล่าง การปฏิวัติรัฐประหารเป็นสิ่งที่จำกัดอยู่กับการแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นปกครองเท่านั้น แม้แต่การปฏิวัติใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็หาใช่ประชาชนจากเบื้องล่างได้ทำจนสำเร็จ ด้วยเหตุนี้จึงต้องประนีประนอมกันด้วยการเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากประสบการณ์ทางวิชาการของข้าพเจ้า ความคิดที่จะทำลายสถาบันกษัตริย์นั้น มาจากสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนั่นเองที่อบรมสั่งสอนบรรดาคนไทยที่ไปเรียนว่า สถาบันกษัตริย์เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของการปกครองของเสรีประชาธิปไตย

นับเป็นการใช้แนวคิด ‘วิวัฒนาการทางสังคม’ [Evolutionalism]  อย่างโดดๆ โดยไม่คำนึงว่ายังมีแนวคิดอื่น เช่น ทฤษฎีในเรื่อง ‘โครงสร้างและหน้าที่’ [Structural functionalism] มาอธิบายได้ว่า การยังมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ ต้องการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ก็เพราะยังมีหน้าที่และความหมายต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยอยู่ ซึ่งก็แลเห็นได้จากพระราชกรณียกิจที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพัฒนาประเทศในลักษณะคู่ขนานกับรัฐบาลด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้คนไทยได้ฟื้นฟูชุมชนและท้องถิ่นของคนให้มีความมั่งคงในเรื่องอาหารและชีวิตวัฒนธรรมอย่างที่เคยมีมาในอดีต และหลุดจากการเป็นทาสปัญญาของอเมริกันและคนตะวันตก อย่างแลเห็นได้ในระยะเวลาที่โควิด ๑๙ ระบาดทุกวันนี้

สำนึกในเรื่องชุมชนและการรักแผ่นดินเกิดกลับมา คนที่ไปอยู่ต่างประเทศต่างทยอยกันกลับมาภายในบ้านเกิดเมืองนอนของตน และคนในชุมชนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าเกิดความรักและความเมตตาที่จะช่วยเหลือคนที่ยากไร้และมีทุกข์ด้วยการแบ่งปันกันในเรื่องอาหารการกินและสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต อย่างเช่นการเกิด 'ตู้ปันสุข' ที่แพร่กระจายไปแทบทุกแห่ง เป็นต้น