ตำแหน่งเมืองสำคัญก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อยู่ใกล้กับเขาชัยสน ซึ่งมีลำน้ำจากเทือกเขาผ่านลงมาเป็นลำน้ำบางแก้วไปลงทะเลที่ ‘วัดเขียนบางแก้ว’ และบริเวณโคกเมือง อันเป็นตำแหน่งเมืองท่าสำคัญในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมา ด้วยบริเวณที่ตั้งที่อยู่อาศัยซึ่งมีชายน้ำเป็นที่ขนถ่ายสินค้า พบเศษภาชนะดินเผาทั้งชนิดเคลือบและเผาจากต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับพบที่หน้าเมืองสทิงพระบนฝั่งตรงข้ามของทะเลหลวง และพบหลักฐานทางโบราณคดีคือแผ่นทองคำที่ระบุอายุในช่วงราชวงศ์ซ่งใต้ ซึ่งมีจารึกภาษาจีนอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ ในบริเวณที่ดอนด้านตะวันออกใกล้กับเขาชัยสน ทำให้แลเห็นความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีที่วัดเขียนบางแก้ว ซึ่งเป็นเมืองคู่ร่วมสมัยกับเมืองสทิงพระบนฝั่งตรงข้าม
เมืองคู่สองฝั่งทะเลหลวง เมืองสทิงพระและโคกเมืองวัดเขียนบางแก้ว
เมืองสทิงพระและโคกเมืองที่วัดเขียนบางแก้วก็คือ เมืองพัทลุงและสงขลา ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ความสำคัญของเมืองคู่ร่วมสมัยระหว่างเมืองสทิงพระกับเมืองที่วัดเขียนบางแก้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นเมืองที่สัมพันธ์กับการนับถือพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ที่เผยแผ่จากนครศรีธรรมราชในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ เพราะมีพระสถูปเจดีย์ วิหาร และพระพุทธรูปศิลาที่คล้ายคลึงกัน และในสมัยอยุธยาตอนปลายยังเป็นศูนย์กลางของคณะสงฆ์ที่ทางอยุธยากำหนดให้เป็นศูนย์กลางในการปกครองวัดและชุมชนเหมือนกัน คือทางฝั่งเกาะที่เมืองสทิงพระ มีคณะสงฆ์ฝ่ายลังกาชาติ ซึ่งมี ‘สมเด็จพระราชมุนี’ หรือบางท่านเรียก ‘หลวงพ่อพะโคะ’ บางท่านเรียก ‘หลวงปู่ทวด’ เป็นผู้ปกครอง ในขณะที่ทางวัดเขียนบางแก้วมี ‘พระครูลังกาแก้ว’ ของคณะสงฆ์ลังกาแก้วปกครอง
ทั้งสองแห่งเป็นเมืองคู่ขนานที่อยู่สองฝั่งทะเลสาบในจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง แต่การเกิดขึ้นเป็นเมืองพัทลุงและเมืองสงขลาที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา แต่พัฒนาการบ้านเมืองทั้งสองนี้มีที่มาต่างกัน
ทางเมืองพัทลุงเกิดก่อน อันเนื่องจากชุมชนชายทะเลของชายฝั่งทะเลตั้งแต่บริเวณโคกเมืองและ ‘วัดเขียนบางแก้ว’ และ ‘แหลมจองถนน’ ลงไปถึง ‘บ้านพระเกิด’ ในเขตอำเภอปากพะยูน เป็นแหล่งที่มีการเลี้ยงช้างป่าซึ่งใช้เป็นพาหนะในการเดินทางข้ามคาบสมุทร ผ่านช่องเขาบรรทัดจากจังหวัดพัทลุงไปยังจังหวัดตรังและสตูลทางฟากฝั่งทะเลอันดามัน
เมืองพัทลุงในบริเวณนี้เป็นชุมชนบ้านเมืองของคนเลี้ยงช้างที่สัมพันธ์กับ ‘ตำนานนางเลือดขาว’ นางเลือดขาวคือธิดาของนายกองช้างผู้เป็นหัวหน้าชุมชนที่สัมพันธ์กับเมืองที่วัดเขียนบางแก้วและเมืองสทิงพระ เดิมเป็นชายาของพระยากุมารผู้เป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้ไปเป็นพระสนมของ ‘พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช’ แต่บางตำนานบอกว่าเป็นสนมของ ‘พระร่วงเมืองสุโขทัย’ รวมทั้งนางเลือดขาวยังได้รับการยกย่องและขนานนามจากคนทั้งฝั่งพัทลุงและฝั่งตรัง สตูล ภูเก็ต รวมไปถึงเกาะลังกาวีว่าเป็น ‘สมเด็จพระนางเจ้า’ บ้าง ‘แม่เจ้าอยู่หัว’ บ้าง จึงปรากฏตั้งเป็นชื่อของชุมชน วัด และสถานที่สำคัญตามท้องถิ่นตามตำนานที่เล่าตมลำดับ
บริเวณเมืองสทิงพระที่อยู่บนเกาะฟากตรงข้ามกับเมืองที่วัดเขียนบางแก้วและแหลมจองถนนก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับช้าง เพราะพบสระโบราณแห่งหนึ่งมีเสาปักอยู่ในสระ คนเรียกว่า ‘เสาตะลุง’ ซึ่งหมายถึงเสาล่ามช้าง เหตุนี้จึงมีคนเรียกทั้งสทิงพระและเมืองที่วัดเขียนบางแก้วว่า ‘เมืองตะลุงหรือพัทลุง’
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรสมัยอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า 'แม่ทวด' ประดิษฐานเป็นพระลากในเรือพระ ตามประเพณีชักพระช่วงออกพรรษาของวัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
วัดพะโคะ ฝั่งสทิงพระใกล้กับเมืองสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่เป็นเมืองคู่กับโคกเมืองทางฝั่งวัดเขียนบางแก้วที่อยู่ตรงข้ามฝั่งทะเลหลวง