ผู้เข้าชม
0
21 สิงหาคม 2563

 

พระเจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสองสูงใหญ่พอประมาณ น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลางมาแล้ว และถูกบูรณะใช้งานอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มชาวเขมรลาวเดิมผู้เข้ามาใหม่ ที่วัดเกาะศาลพระ จังหวัดราชบุรี

 


 

ซึ่งกลุ่มชาว ‘ญ้อ’ ถือเป็นชาวลาวจากเมืองหงสาที่พูดสำเนียงแบบหลวงพระบาง ชาวบ้านบางท่านที่วัดเกาะศาลพระจดจำว่าเป็นสิ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านของตนสันนิษฐานถึงการพูดหรือสำเนียงเฉพาะในบ้านแถบวัดเกาะศาลพระ ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ามีความแตกต่างระหว่างกลุ่มลาวในสำเนียงการพูดที่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเขมรลาวเดิมนี้อีกเช่นกัน

แต่ที่มีนัยะซ่อนอยู่คือ การเริ่มต้นกวาดต้อนครัวนี้ตั้งต้นที่เมืองอุดงในเขมร และผู้ที่มีบทบาทคือขุนนางเขมรที่กำปงสวายหรือกระพงสวาย คือ พระยาเดโช (แทน) และพระยาแสนท้องฟ้า (เปียง) ที่เคยเป็นกำลังหลักในกองทัพเขมรจากกำปงสวายและกำปงธมไปตีล้านช้างนั้น แม้จะหนีทัพกลับมาแต่ก็น่าจะมีชาวเขมรติดทัพกลับมาพร้อมกับชาวลาวและไทดำไม่น้อย และชาวลาวส่วนหนึ่งให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราชบุรี ซึ่งควรมาพร้อมครัวทัพเขมรที่ติดทัพมาจากกำปงสวายส่วนหนึ่งและสามารถเชื่อมต่อความสัมพันธุ์กับกลุ่มชาวเขมรที่เคยถูกกวาดต้อนมาจากเมืองบารายได้

ในอดีตเมื่อกวาดต้อนครัวชาวต่างๆ มาอยู่ ณ ที่ใด ก็จะให้ผู้ปกครองแต่เดิมดูแลปกครองคนในกลุ่มตน และให้ขึ้นสังกัดมูลนายเป็นไพร่หลวงบ้าง ไพร่สมบ้าง ไพร่ส่วยบ้าง ผ่านทางมูลนายที่เป็นขุนนางฝ่ายต่างๆ ที่ไปทัพกลับมาแต่ละคราว

กลุ่มชาวเขมรในการอพยพครัวระยะแรกมี พระยายามราช (ควร) พระยารามเดชะ (มู) พระยาไกร (ลาย) และพระยาแสนท้องฟ้า (ลาย) ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มผู้ดูแลปกครองชาวเขมรมาแต่แรก และรับผู้อพยพเพิ่มเติมที่สืบเนื่องจากการกวาดต้อนตั้งแต่เมืองอุดงในเขมรเรื่อยไปตามแม่น้ำโขงจนถึงเวียงจันทน์และหลวงพระบางตลอดไปจนถึงเมืองมอยและเมืองซือหวีต่อเขตแดนญวนที่กล่าวกันว่าคือเมืองม้วยในหัวพันและเมืองแถนในเมืองลาว ถูกนำไพร่พลเคลื่อนเข้ามาเป็นชุดแรก ก่อนจะอพยพจากเหตุต่างๆ มาอีกหลายระลอกในสมัยช่วงกรุงรัตนโกสินทร์

กลุ่มลาวเวียงและลาวหัวเมืองทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงนั้น หากอยู่ในกลุ่มที่ไม่ใช่ครัวจากบ้านเดียวเมืองเดียวกัน ก็อาจจะถูกจัดให้ไปรวมกับกลุ่มชาวเขมรที่ติดทัพมา และไปอยู่รวมกับชาวเขมรที่ตั้งเป็นกลุ่มใหญ่ต้นทางของการอพยพเก็บไพร่พลเมืองเข้าสู่บ้านเมืองหลังเสียกรุงศรีอยุธยาที่ถือว่ากลุ่มชาวเขมรนั้นเป็นกลุ่มผู้อพยพชุดแรกๆ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและหลังสมัยกรุงแตกฯ ไปแล้วเพียง ๔ ปี

สังเกตได้ว่ามีทั้งที่ บ้านพงสวาย ที่มีทั้งชาวเขมรและชาวลาวอยู่ด้วยกัน และกลุ่มชาวลาวที่เป็นกลุ่มทางริมแควแม่น้ำอ้อมทางอำเภอวัดเพลงและอำเภอบางแพเป็นกลุ่มใหญ่ที่แทรกอยู่กับกลุ่มชาวเขมรทางแถบปากท่อ โดยมีขุนนางที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบขุนนางของสยามเป็นผู้ปกครองดูแลโดยได้รับพระราชทานที่ดินทำกินตั้งถิ่นฐานสืบต่อมา