ผู้เข้าชม
0
26 มกราคม 2564

ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.๒๕๒๗  บริเวณวัดพะโคะและตระพังพระที่อยู่ใกล้เคียง

 

เศียรพระพุทธรูปหินทรายแดง พบบริเวณโคกวิหารหรือที่เชื่อว่าเป็นวิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา วัดเขียนบางแก้ว

ร่องรอยของการตั้งถิ่นฐาน

รอบทะเลสาบสงขลามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ‘ยุคเหล็ก' ราวพุทธศตวรรษที่ ๑ ลงมา คือ เครื่องมือหินและเศษภาชนะดินเผา ลูกปัด ทั้งชายฝั่งทะเลสาบด้านตะวันตกในเขตจังหวัดพัทลุง และชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกในเขตอำเภอสทิงพระและระโนด จังหวัดสงขลา

บริเวณสำคัญคือริมคลอง ‘โคกทอง’ ซึ่งน่าจะเป็นคลองขุดระหว่างทะเลนอกจากทะเลหลวงภายใน ซึ่งน่าจะตัดตรงต่อกับคลองระโนดในทุกวันนี้โดยไปออกปากคลองระโนด ส่วนทางฝั่งทะเลนอกมี ‘วัดอู่ตะเภา’ ริมชายหาดที่ปัจจุบันไม่พบร่องรอยเก่าแก่นอกจากชื่อสถานที่และคำบอกเล่าว่าเป็นชุมชนเก่าว่ามีปากคลองแต่ดั้งเดิม ทุกวันนี้ไม่พบแล้ว และพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่นาสองฝั่งก็กลายเป็นบ่อกุ้งไปหมด

บริเวณโคกทอง เป็นเนินใหญ่อยู่ทางฝั่งใต้ของคลองโคกทอง และอยู่ทั้งสองฝั่งของถนนกลางเมืองระโนดที่ตัดผ่าน ริมคลองและเนินหลายแห่งพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก ซึ่งพบแหวนทองซึ่งเป็นตราประทับรูปโคหมอบ และลูกปัดซึ่งเทียบได้กับลูกปัดที่พบในสมัยยุคเหล็กหรือช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑ แบบที่พบแถบคอคอดกระ ทั้งสองฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะแบบเครื่องถ้วยจีนยุคสมัยต่างๆ มีทั้งในราชวงศ์หมิงและชิงด้วย ดังนั้นบริเวณเส้นทางคลองโคกทองที่ต่อกับคลองระโนดจึงมีการใช้งานมาโดยตลอด

ในยุคประวัติศาสตร์พบแหล่งศาสนสถานและชุมชนที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา เป็น ‘ยุคเดียวกันกับสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย’ มีทั้ง ‘ศาสนาฮินดูและพุทธมหายาน’ ผสมกัน และมีการเกิดขึ้นของบ้านเมืองใหญ่โตในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อันเป็นสมัยอยุธยาตอนกลาง เลยมาจนถึงเมืองสงขลาและพัทลุงในสมัยอยุธยาตอนปลายที่ต่อเนื่องลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

 

จากโคกเมืองวัดเขียนบางแก้ว สู่เมืองพัทลุง

อาจารย์ศรีศักรและอาจารย์มานิต วัลลิโภดม เคยไปสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตสงขลา พัทลุง ด้วยการนำของพระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และคุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ผู้เป็นปราชญ์ทางโบราณคดีเมืองสงขลา  พบว่าตามเขาตามถ้ำหินปูนของเขาลูกโดดตั้งแต่เขตอำเภอรัตภูมิขึ้นไปถึงเขาชัยสน เขาอกทะลุ  และเขาอื่นๆ ไปจนถึงอำเภอควนขนุน พบ ‘ถ้ำ’ ที่เป็นศาสนสถานในพุทธมหายาน มีพระพิมพ์ดินเผาหรือดินดิบแบบศรีวิชัยกระจายอยู่ทั่วไป นับเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่อำเภอรัตภูมิขึ้นไปจนถึงอำเภอควนขนุนพัทลุงต่อนครศรีธรรมราช มีความเป็นบ้านเป็นเมืองมาแต่สมัยศรีวิชัย คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา ซึ่งช่วงเวลาก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ นั้นการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองเป็นชุมชนเล็กๆ กระจุกกันอยู่ตามชายเขาลูกโดดดังกล่าว

บริเวณชุมชนก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เหล่านี้ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลหลวง มักตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำที่ไหลลงจากเทือกเขาบรรทัด ผ่านที่ลาดลุ่มและลุ่มต่ำไปออกทะเลหลวงที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเกาะสทิงพระ