พระอุโบสถเดิมวัดเกาะศาลพระ ริมคลองแม่น้ำอ้อม ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่
ศาลาริมน้ำหลังเก่าที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ แต่ยังไม่มีงบประมาณซ่อมแซม ริมคลองแม่น้ำอ้อม วัดเกาะศาลพระ
สมเด็จพระนารายณ์ราชาสู้รบต้านทานไม่ได้ จึงพาครอบครัวหนีไปเมืองญวน เจ้าพระยาจักรียกทัพต่อไปตีได้เมืองบาพนม อยู่ในจังหวัดไพรแวงในปัจจุบัน มีภูเขาบาพนมเป็นเขาสำคัญในอดีต และเป็นเส้นทางเข้าสู่ออกแอวและบริเวณแขมร์กรอมหรือเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งในขณะนั้นเป็นพื้นที่ซึ่งญวนกำลังเริ่มเข้ามายึดครองอย่างเข้มงวดในระยะต่อมา แล้วมาสมทบทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เกาะพนมเปญ
พอทัพไทยเลิกทัพกลับ สมเด็จพระนารายณ์ราชาก็พากองทัพญวนขึ้นมารักษาเมืองเขมรเช่นเดิม แต่หมายถึงใช้อำนาจทางการทหารของชาวญวนหรือเวียดนามในตระกูลเหงวียนในเวลานั้นที่ขยายอำนาจสู่ทางใต้สู่เขตอิทธิพลของชาวจามปาและดินแดนของเขมร เจ้าพระยาจักรีเดินทัพกลับยังสยาม ถึงมากลางทางทราบว่าญวนขึ้นมาช่วยเขมร จึงไปกวาดต้อนครัวจาก ‘เมืองบาราย เมืองโพธิสัตว์’
และจับ ขุนนางเขมร คือ พระยายมราช ชื่อ ควร พระยารามเดชะ ชื่อ มู พระยาไกร ชื่อ ลาย ‘พระยาแสนทองฟ้า’ ชื่อ ลาย รวมกับครอบครัวที่ได้ในกรุงนั้นหมื่นเศษส่งเข้ามากรุงธนบุรี แล้วตั้งปกครองเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐไว้
ครัวเขมรที่เข้ามาครั้งนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ สมเด็จพระจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ‘เมืองราชบุรี’
ในกลุ่มเมืองชื่อกำปงสวายหรือกพงสวายในชื่อเอกสารเก่า เมืองบาราย เมืองเชิงไพร มักอยู่ด้วยกัน และอยู่แถบจังหวัดกำปงธมและกำปงจามที่อยู่ด้านเหนือของทะเลสาปต่อกับเขตภูเขาสูงของกระแจะ และต่อแดนกับทางแขมร์กรอมหรือพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
จึงสันนิษฐานว่าผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมานั้น นอกจากมาจากเมืองโพธิสัตว์ที่มีเพลงเขมรโพธิสัตว์ยังเหลือเป็นร่องรอยหลักฐาน ก็อาจรวมไปถึงเมืองกำปงสวายที่เคยเรียกว่า 'กพงสวาย' ที่ยังมีบ้าน ‘พงสวาย’ เป็นกลุ่มบ้านใหญ่ของชาวเขมรลาวเดิมในเมืองราชบุรีฝั่งตะวันออกของลำน้ำแม่กลอง ‘เมืองบาราย’ ในเอกสารก็น่าจะอยู่อยู่ระหว่างจังหวัดกำปงธมและกำปงจามในปัจจุบัน ไม่ไกลจากเมืองกำปงสวายจึงพอเห็นความสัมพันธ์กัน
ส่วนตำแหน่งขุนนางเขมรที่ถูกกวาดครัวมาด้วยด้วยกัน คือ พระยายามราช (ควร) พระยารามเดชะ (มู) พระยาไกร (ลาย) และ พระยาแสนท้องฟ้า (ลาย) ซึ่งราชทินนามชื่อหลังนี้กลายมาเป็นตำแหน่งกรมการเมืองหรือผู้ปกครองกลุ่มชาวเขมรลาวเดิมในตำแหน่ง ‘พระแสนท้องฟ้า’ ซึ่งมีความเชื่อมโยงในช่วงเวลาต่อมาที่มีการกวาดต้อนชาวลาวบางกลุ่มที่มาอยู่สมทบกับชาวเขมรที่ราชบุรี