ภูมิวัฒนธรรมของการสร้างบ้านแปงเมืองจากโครงสร้างทางกายภาพของทะเลสาบสงขลา สามารถแบ่งพื้นที่ทะเลสาบได้ดังนี้
๑. พื้นที่ชายฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นชายหาดแต่เดิม ปัจจุบันคือแถบแนวจังหวัดพัทลุง
๒. พื้นที่เป็นเกาะและเขาทางตะวันออก ปัจจุบันคือแนวสันทรายและแผ่นดินที่เรียกว่าแผ่นดินบก ทะเลสาบตอนบนเรียกว่า ‘ทะเลหลวง’ แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ
ส่วนบน ที่อยู่ต่ำจากทะเลน้อย ตั้งแต่ระโนดลงมาจนถึงเกาะใหญ่ที่อยู่ทางด้านตะวันออก ส่วนด้านตะวันตกตั้งแต่ปากประ เมืองพัทลุง ลงมาจนถึงแหลมจองถนน ระยะทางราว ๓๐ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ห้วงน้ำขนาดใหญ่
ส่วนล่าง จากแหลมจองถนนและเกาะใหญ่ลงมาจนถึงปากรอทางฟากตะวันตก และทางฝั่งตะวันออกในแถบสทิงพระระยะทางราว ๓๔ กิโลเมตร เต็มไปด้วยเขาเล็กและเขาใหญ่ที่กลายเป็นเกาะมากมาย เช่น เกาะหมาก เกาะใหญ่ เกาะนางคำ เป็นต้น ทำให้เกิดพื้นที่ขวางทางน้ำในทะเลสาบ ด้านตะวันตกจึงเป็นช่องน้ำแคบ แต่ทางฟากตะวันออกทางสทิงพระเป็นร่องน้ำใหญ่กว้างไหลไปออกช่องแคบที่ ‘ปากรอ’ ลงสู่ทะเลสาบสงขลา อันเป็นพื้นที่ส่วนสุดท้าย ซึ่งมีทางออกทะเลทางเดียวที่ ‘หัวเขาแดง’
พื้นที่ของทะเลสาบบริเวณนี้เป็นรูปกลมรี จากปากรอจนถึงหาดใหญ่และเมืองสงขลาระยะราว ๒๒ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ซึ่งมีเขาและเกาะอยู่บ้าง เช่น ‘เกาะยอ’
๓. พื้นที่เป็นพรุและควนทางเหนือ ในบริเวณอำเภอเชียรใหญ่ต่อเนื่องกับอำเภอระโนดและบริเวณที่ลุ่มของอำเภอควนขนุน เป็นแผ่นดินที่เพิ่มจากชายฝั่งทะเลจากควนขนุนมาจรดแนวสันทรายที่ระโนดผ่านหัวไทรขึ้นไปถึงปากพนัง เป็นที่ราบลุ่มสลับด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำของป่าพรุและเขาลูกโดดที่อยู่เหนือบริเวณทะเลน้อยขึ้นไป ทำให้เกาะแต่เดิมจากทะเลน้อยลงไปจนถึงทะเลหลวงและทะเลสาบสงขลากลายเป็นลากูน ในบันทึกและแผนที่ของนักเดินเรือพ่อค้าชาวยุโรปราว ๓๐๐ ปีมาแล้ว ระบุว่าเรือทะเลเคยเดินทางผ่านพื้นที่ซึ่งยังเป็นทางน้ำเข้าไปถึงเมืองพัทลุงที่ลำปำ ก่อนที่เส้นทางน้ำดังกล่าวจะใช้คลองระโนดแทน
ส่วนพื้นที่ส่วนบนของทะเลสาบสงขลาก็คือ ทะเลน้อย เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่น้ำทะเลเข้าไม่ถึง เกิดจากการทับถมจากที่ลาดเทือกเขาบรรทัดทางตะวันตก การงอกของสันทรายจากแนวหินปะการังไปจดแหลมตะลุมพุก
๔. พื้นที่อ่าวทางใต้ซึ่งเป็นภูเขาและหุบเขาที่สัมพันธ์ระหว่างเทือกเขาบรรทัดกับเทือกเขาสันกาลาคีรีในแถบจังหวัดสงขลาต่อเนื่องกับจังหวัดตรังและสตูล การเกิดขึ้นของชายฝั่งทะเลตั้งแต่หาดใหญ่ รัตภูมิ ไปจนถึงควนเนียง สงขลา และปากพะยูนที่พัทลุงนั้น เป็นการงอกแบบเว้าแหว่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง มีเขาลูกโดดอยู่มากทั้งชายฝั่งและพื้นทะเลเป็นเขาและเกาะ เช่น เกาะนางคำ เกาะหมาก เกาะสี่ เกาะห้า เกาะใหญ่ ฯลฯ จนทำให้ไม่มีแนวสันทราย ส่วนชายฝั่งทะเลจากหาดใหญ่ถึงเมืองสงขลาที่แหลมสนและเก้าเส้งเป็นพื้นที่ลาดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ลำน้ำไหลลงทะเลทะเลสาบสงขลาทั้งนั้น โดยเฉพาะ ‘ลำน้ำอู่ตะเภา’
เมืองเก่าสงขลาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหลังคือปากช่องเข้าทะเลสาบสงขลา
บริเวณทะเลหลวง หน้าเกาะใหญ่กระแสสินธุ์ ตรงข้ามกับแหลมจองถนน