ประเพณีพิธีกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่ตกทอดสืบต่อมาและทำให้แยกความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ได้มากกว่าคำบอกเล่าอื่นๆ ทางกลุ่มชาวลาว ผู้บันทึกข้อมูลอ้างถึงประเพณีการถือผีบรรพบุรุษที่ค่อนข้างเคร่งครัด และจะต้องบอกกล่าวเมื่อมีการบวช แต่งงาน และงานศพ และการเลี้ยงผีตามสายตระกูลที่เรียกว่าเลี้ยงตามก๊ก ซึ่งเครื่องเซ่นจะแตกต่างกันในแต่ละตระกูล ส่วนตามบ้านจะมีหิ้งผีในห้องหนึ่งของบ้านเมื่อทำบุญวันสารท เทียบได้กับ ‘บุญข้าวสาก’ ของชาวลาวที่ต้องเลี้ยงผีบรรพบุรุษและผีไม่มีญาติตลอดจนผีตาแฮกตามไร่นา ซึ่งจะนำอาหารต่างๆ ใส่กระบะไปไหว้ตามศาลปู่ตาหรือโคนต้นไม้ใหญ่ ส่วนทางกลุ่มเขมรนั้นกล่าวกันว่ามีพิธี ‘โดนตา’ ซึ่งเป็นบุญสารทเดือนสิบเช่นกัน กลุ่มชาวเขมรเรียกกันทั่วไปว่าพิธีแซนโฎนตา เป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษในช่วงวันสารทเขมร แต่ไม่แน่ใจในข้อมูลที่คัดลอกกันมาว่าเป็นการเก็บข้อมูลพิธีกรรมนี้จากท้องถิ่นในพื้นที่หรือไม่
ร่องรอยสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดูจะคลุมเครือนี้ ในนาม ชาว ‘เขมรลาวเดิม’ ไม่ได้มาจากการบอกเล่าของชาวบ้านในปัจจุบัน แต่เป็นการเทียบกลับไปในบันทึกจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง ตอนที่ ๘ พงศาวดารเขมร ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีจนนักองเองเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กล่าวถึงในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. ๒๓๑๔ เกิดความขัดแย้งในกรุงกัมพูชา พระรามราชาหรือนักองโนน พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชรามาธิบดีหรือนักองตน หนีเข้ามาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี พระโสทัตหรือมักเทียนตื้อหรือพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองเปียมหรือฮ่าเตียนที่อยู่ใกล้กับเมืองพุทไธมาศหรือบันทายมาศ ผู้ที่สนิทสนมกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ เกณฑ์ไพร่พลในแขวงเมืองบันทายมาศและเมืองกรัง ยกทัพมาตีเมืองตราดและเมืองจันทบุรี กวาดต้อนผู้คนไปมาก จากเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ครั้งเสด็จมาทางตะวันออกเพื่อขอความช่วยเหลือและพยายามเป็นไมตรีต่อเมืองฮ่าเตียนในช่วงกรุงแตกฯ แต่ไม่ได้ผล และเมื่อเสด็จปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว หัวเมืองทางตะวันออกนั้นถูกโจมตีต่อเนื่องเรื่อยมา
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้จัดกองทัพบกมีเจ้าพระยาจักรีหรือต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองปราจีนบุรี พานักองโนนหรือพระรามราชาไปด้วยในกองทัพ ส่วนกองทัพเรือนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จเดินเรือเลียบชายฝั่งไปเองตีได้เมืองเปียมหรือฮ่าเตียน แล้วยกไปตามคลองเล็กคลองน้อยเข้าสู่ภายในหัวเมืองเขมร ถึงพนมเปญหรือเกาะพนมเพ็ญ กองทัพเจ้าพระยาจักรีตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ และเมืองบริบูรณ์ ซึ่งอยู่ในจังหวัดกำปงชนังในปัจจุบัน แล้วยกล่วงลงไปตีได้เมืองบันทายเพชรหรืออุดงมีชัยที่เป็นเมืองหลวงของเขมรหลังเมืองพระนครล่มสลายไปแล้วและมีเขาพระราชทรัพย์อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวงศ์เขมรอยู่กลางเมือง
คุณลุงละเอียด ศรีสะอาด วัย ๘๔ ปี เชื้อสายชาวเขมรลาวเดิม ที่ยังคงพูดภาษาลาวได้บ้างเป็นคำๆ