ผู้เข้าชม
0
29 มิถุนายน 2563

 


 

พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ หลังหยุดไปใน พ.ศ. ๒๔๗๕

 

 

 

 


 

ต่างกับโรคระบาดโควิด ๑๙ ที่เป็นประสบการณ์ของข้าพเจ้าในขณะนี้ ที่มีอานุภาพแผ่ซ่านไปทั่วทุกทวีปในโลก คนติดเชื้อเป็นจำนวนนับสิบล้านและตายหลายแสนคน ซึ่งเมื่อเห็นคนตายจากทีวีแล้วเป็นสิ่งน่าตกใจและสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะบรรดาประเทศที่มีคนตายเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านนั้น ล้วนเป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจของโลกทั้งสิ้น

ต่างกับประเทศไทยที่เราอยู่ในขณะนี้ มีคนติดเชื้อเพียงจำนวนพัน ตายไม่ถึงร้อย และส่วนใหญ่ก็รักษาหายกลับไปบ้านได้เกือบหมด นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง

เพราะก่อนหน้าการเกิดโรคระบาดนี้ ข้าพเจ้าเคยคิดว่า สังคมไทยและประเทศไทยอยู่ในสภาพล้มละลายทั้งทางศีลธรรม [Demoralization] และความเป็นมนุษย์ [Dehumanization]

ดังเห็นได้จากคุณภาพและพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่สะท้อนออกมาจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนามาเป็นสังคมอุตสาหกรรม แต่ครั้งรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคสงครามเย็น

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่โลกแบ่งออกเป็นสองค่าย ค่ายเสรีประชาธิปไตยแบบทุนนิยม กับค่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เรียกว่า คอมมิวนิสต์ ซึ่งมีรัสเซียและจีนเป็นหัวหอก เป็นสังคมเผด็จการ ในขณะค่ายเสรีประชาธิปไตยก็มีอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส ล้วนเป็นมหาอำนาจมาแต่ยุคอาณานิคมเป็นฝ่ายการปกครองแบบทุนนิยมเสรีที่เรียกว่า ประชาธิปไตย โดยอ้างความเป็นใหญ่ของประชาชนในแผ่นดิน ทำให้การปกครองบ้านเมืองต่อมาจากการเลือกตั้งมีรัฐสภาและกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นที่มาของอำนาจในการบริหารและปกครอง

สังคมไทยเป็นสังคมในระบอบราชาธิปไตยมาแต่โบราณกาล เป็นระบอบเผด็จการที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้มีอำนาจเด็ดขาดในแผ่นดินก็ตาม แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทางศีลธรรมและความเชื่อที่มาจากอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็น ‘ทศพิธราชธรรม’ ‘ทศบารมี’ และการเป็น ‘องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก’ ให้แก่ประชาชนที่มีศาสนาและชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันในแผ่นดิน