เอกสารงานศึกษาในจังหวัดราชบุรีและทั่วไปสรุปไปในแนวทางเดียวกันว่า ไม่สามารถสืบค้นเพราะไม่ทราบที่มาแน่ชัดว่า ‘ชาวเขมรลาวเดิม’ นั้นคือใคร มาจากที่ใด ทำไมจึงเรียกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งว่าเป็นชาวเขมรลาวเดิม ทั้งที่ชาวเขมร และชาวลาว นั้นมีความแตกต่างทั้งทางภาษาและชีวิตวัฒนธรรม
จากงานศึกษาท้องถิ่นของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี โดย พูลศรี จีบแก้ว กล่าวถึงถิ่นกำเนิดเดิมและสาเหตุของการอพยพครัวเข้ามาอยู่ในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียงในบางประการ กล่าวอย่างสรุป ได้แบ่งชาวเขมรลาวเดิมออกเป็นสองกลุ่มตามภาษาและสำเนียงการพูด คือ
๑. ชาวเขมรลาวเดิมที่พูดภาษาไทยปนลาว
มีความทรงจำจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า ‘ถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือ’ ใช้ภาษาลาวปนไทย นักภาษาศาสตร์กล่าวว่ามีคำสำเนียงภาษาลาวที่แตกต่างไปจาก ‘ภาษาลาวครั่ง’ ข้อมูลจากเอกสาร ๘ ชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี มีข้อสังเกตของผู้เก็บข้อมูลคือ ชาวเขมรลาวเดิมมีภาษาพูดสำเนียงคล้ายภาษาลาวอีสาน ศัพท์สำนวนบางคำคล้ายกับภาษาไทยเหนือและอีสาน เช่น เว้า แปลว่า พูด, บ่หย่าน แปลว่า ไม่กลัว, ไปเด๋ามา แปลว่า ไปไหนมา, ไปเฮ็ดนา แปลว่า ไปทํานา, ปวดแค้ว หรือ ปวดแข่ว แปลว่า ปวดฟัน, ไปเดี๋ยวหกคืน แปลว่า ไปเดี๋ยวเดียวแล้วจะกลับ, หกมื้อเด๋า แปลว่า กลับเมื่อไร, หกมื้ออื้น แปลว่า กลับพรุ่งนี้, ไปโพ้นไปพี้ แปลว่า ไปโน่นไปนี้, แย้มอีหยัง แปลว่า มองอะไร, หกบ้านมื้อได๋ แปลว่า กลับบ้านเมื่อไร
ชาวเขมรลาวเดิมที่พูดภาษาลาวเหล่านี้ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ระหว่างคลองน้ำอ้อมและแม่น้ำแม่กลองที่ต่อเนื่องมาจนถึงแนวถนนท้าวอู่ทองและบริเวณโดยรอบทางฝั่งตะวันตกทางอำเภอปากท่อและเรื่อยมาจนถึงคลองวัดประดู่ในอำเภอวัดเพลง นอกจากนี้ยังมีชุมชนในกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานข้ามไปจนถึงแถบอำเภอบางแพทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ได้แก่ ในเมืองพื้นที่ ‘บ้านพงสวาย’ ซึ่งเป็นเขตใกล้กับตัวเมืองราชบุรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกล่าวว่ามีบางส่วนอยู่แถบเจ็ดเสมียนและพื้นที่ในตำบลคุ้งกระถินรวมทั้งตำบลคุ้งน้ำวนในอำเภอเมืองราชบุรี, ตำบลวัดยางงาม ตำบลบ่อกระดาน ตำบลดอนทราย ในอำเภอปากท่อ และที่ตำบลวัดเพลง ตำบลเกาะศาลพระ ในอำเภอวัดเพลง, ตำบลหัวโพ ตำบลวังเย็น ตำบลวัดแก้ว ตำบลบางแพ ในอำเภอบางแพ และน่าจะกระจายต่อเนื่องอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดราชบุรีและจังหวัดเพชรบุรีตามแนวสันทรายคือ ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญตั้งแต่จังหวัดราชบุรีถึงเพชรบุรี
๒. ชาวเขมรลาวเดิมที่พูดภาษาไทยปนเขมร
กล่าวว่าตั้งบ้านเรือนอยู่ในย่านเมืองและสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะทางตะวันออกของเมืองราชบุรีบริเวณที่ติดกับเมืองราชบุรีเก่าที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๒ เช่นที่บ้านพงสวาย บ้านคลองแค บ้านคุ้งกระถิน บ้านคุ้งน้ำวน บ้านอู่เรือ บ้านรากขาม บ้านห้วยหมู และบ้านเด่นกระต่าย เขตอำเภอเมืองราชบุรี คือบ้านสมถะ ตำบลบางโตนด บ้านสนามชัย ตำบลเจ็ดเสมียน ในอำเภอโพธาราม และที่บ้านโคกพระ บ้านหนองกระทุ่มในอำเภอปากท่อ เป็นต้น บันทึกว่ายังพบว่ามีการใช้ภาษาไทยปนเขมรเป็นคำๆ เช่น โตวนามอ หรือโตวน่าม้อ แปลว่า ไปไหนมา, ดําบาย แปลว่า หุงข้าว, ซีบาย แปลว่า กินข้าว, ซีบายเหอยเน้อง แปลว่ากินข้าวหรือยัง, พ็อกตึ๊ก แปลว่า ดื่มน้ํา, บอง แปลว่า พี่, ปะโอน แปลว่า น้อง, ตักตึ๊ก แปลว่า ตักน้ํา, ตะแกจะค้ํา แปลว่า หมาจะกัด เป็นต้น
จะเห็นว่าพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรจะอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองบริเวณย่านเมืองเป็นกลุ่มหมู่บ้านหลายแห่งทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก และขึ้นเหนือไปถึงกลุ่มบ้านในตำบลเจ็ดเสมียนและต่ำลงไปทางลำน้ำแม่กลองจนถึงปากท่อ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั้นมีแทรกอยู่ในพื้นที่ตั้งบ้านเรือนของกลุ่มเขมรอย่างใกล้ชิดกันด้วย และขยายออกไปทางคลองแม่น้ำอ้อมและพื้นที่โดยรอบ ดูว่าน่าจะเป็นกลุ่มใหญ่กว่ากลุ่มเขมรโดยประเมินคร่าวๆ
ในปัจจุบันทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ปะปนแต่งงานข้ามกลุ่ม และน่าจะกระจัดกระจายบ้านเรือนไปตามวิถีชีวิตการทำมาหากิน การบุกเบิกพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม จนแทบไม่พบร่องรอยของชุมชนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์โดดๆ จะมีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่อายุราว ๘๐ ปีขึ้นไป เช่น ที่รอบวัดเกาะศาลพระที่พอจะพูดในสำเนียงและถ้อยคำ ‘ลาว’ ได้ไม่กี่คำและเฉพาะบางคนเท่านั้น ชาวบ้านชุมชนเกาะศาลพระยังเลือกการการแสดงแบบ ‘เซิ้ง’ ปาดตาล ที่เป็นอาชีพพื้นฐานของคนในท้องถิ่นแต่เดิมเป็นอัตลักษณ์ในการแสดงทางวัฒนธรรม ซึ่งการเซิ้งที่มีวงกลองยาวประกอบก็ถือว่าเป็นการรื่นเริงของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวทั่วไป
จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่โดยรอบวัดเกาะศาลพระ ก็แน่ใจว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ลาว’ จากถ้อยคำและสำเนียงพูดของผู้สูงวัย ซึ่งยากที่จะยินยอมพูดด้วยเพราะรู้สึกว่า การเป็นเขมรลาวเดิมสำหรับตนและผู้คนที่มีเชื้อสายนั้น ดูด้อยและน่าปกปิดต่อคนภายนอกมากกว่าที่จะเป็นเรื่องน่าชื่นชม
แต่อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงยอมรับความเป็น ‘เขมร’ ลาวเดิม อย่างไม่แน่ใจว่าเป็นคนลาวหรือคนเขมร ซึ่งดูไปก็เห็นว่าไม่ได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้เท่าใดนัก