ผู้เข้าชม
0
29 มิถุนายน 2563

แนวคิดพื้นฐาน


 

แนวคิดทางมานุษยวิทยาสังคมเห็นว่าความเป็นมนุษย์หรือ มนุษยชาติ [Mankind] นั้นเป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สัตว์สังคม ซึ่งต้องอยู่รวมกันเป็น กลุ่ม [Group] จึงจะ มีชีวิตรอดได้ [Survival]

สัตว์สังคมมีหลายอย่างหลายประเภท แต่สัตว์สังคมที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ หรือ ‘คน’ นั้นมีวิวัฒนาการทางชีววิทยามานานหลายขั้นตอนก่อนที่จะเป็นมนุษย์หรือคนขึ้นมาให้อยู่เหนือสัตว์โลกอื่นๆ ซึ่งนอกจากรูปร่างที่แตกต่างแล้วยังเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความคิดและสติปัญญา สามารถสื่อสารกันได้ด้วยระบบสัญลักษณ์

การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า สังคม [Society] เป็น กลุ่ม [Group] ที่มีโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างกัน หาใช่การรวมกลุ่มกันชั่วคราวแบบที่เรียกว่า ม็อบ [Mob] ไม่ ในการอยู่รอดร่วมกันทางสังคมของมนุษย์นั้น ต้องมี วัฒนธรรม [Culture] คือสิ่งที่มนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นสังคมคิดและสร้างขึ้นเพื่อการมีชีวิตรอดร่วมกัน

เพราะฉะนั้น ทั้ง สังคม [Society] และ วัฒนธรรม [Culture] คือสิ่งที่แยกกันไม่ออก ประดุจเหรียญที่มีสองด้าน คำว่า วัฒนธรรม ในแนวคิดทางมานุษยวิทยาจึงไม่อยู่ลอยๆ หากต้องมีสังคมเป็นกรอบหรือ บริบท [Social context] ที่หมายถึงการแลเห็นการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในมิติของ เวลา [Time] และ พื้นที่ [Space]

สัตว์สังคมอื่นๆ ก็มีการสร้างวัฒนธรรมเพื่อการอยู่รอดเหมือนกัน แต่วัฒนธรรมของสัตว์มนุษย์นั้น สร้างขึ้นด้วยความสามารถในการเรียนรู้และมีความคิดสติปัญญา ต่างจากสัตว์โลกอื่นๆ ที่สร้างวัฒนธรรมด้วยสัญชาติญาณ [Instinct] จึงทำให้วัฒนธรรมของมนุษย์เป็นวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรุ่นไป  ในขณะที่วัฒนธรรมของสัตว์สังคมอื่น หยุดนิ่ง [Static]

เพราะฉะนั้นการศึกษาสัตว์สังคมเช่นมนุษย์หรือคนนั้น จึงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นตามเวลา [Through time] และการเปลี่ยนแปลงก่อนเวลา [Over time] ในทำนองเดียวกันกับการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้าเรียกว่า ประวัติศาสตร์สังคม [Social history] อันเป็นการศึกษาที่แลเห็นมิติทางสังคมกับมิติทางวัฒนธรรมไปด้วยกัน

 

 


 

ในมิติทางสังคมนั้นคือ การเห็น โครงสร้างสังคม [Social structure] ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างเช่นเรื่องของครอบครัว ชุมชน ชาติพันธุ์ บ้านเมือง และรัฐ เป็นต้น ที่มีการรวมกันเป็น องค์กร [Organization] ที่ข้าพเจ้าจะไม่ให้ความสำคัญเท่าใดในบทความ  แต่จะเน้นใน มิติทางวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลาย ความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นเรื่องของความคิดของมนุษย์ที่มีต่อตนเองและจักรวาล

เช่นเรื่อง การมองโลก [Worldview] ศาสนา ศีลธรรม ค่านิยม อุดมคติ ขนบธรรมเนียม ศิลปะ ประเพณี และวิถีชีวิต เป็นต้น

โดยการเขียนนี้จะเลือกเน้นการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทางสังคมและวัฒนธรรมมาวิเคราะห์และวิจารณ์ ซึ่งเรื่องแรกและในคอลัมน์นี้คือ

ปรากฏการณ์โควิด ๑๙ กับการมองโลกมองสังคมของคนในหลายประเทศหลายสังคมในปัจจุบัน

 

โควิด ๑๙ : อุบัติการณ์ ‘ล้างโลก' และ ‘สร้างโลก’

ประสบการณ์และความคิดของข้าพเจ้าที่มีมา คิดแต่เพียงว่า มหันตภัย ที่มีอานุภาพในการทำลายโลกนั้น มีทั้งการกระทำของทั้งธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ มนุษย์ผู้เป็นสัตว์โลกที่ไม่มีสัตว์อื่นใดทำลายล้างได้ นอกจากมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น การผลิตยาเสพติด สงครามปรมาณูและนิวเคลียร์  ส่วนการกระทำของธรรมชาติก็เช่น แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด พายุทอร์นาโด เป็นต้น

แต่มหาภัยที่เป็นโรคห่าระบาดจนคนตายเป็นหมื่นเป็นแสนนั้น เป็นสิ่งที่รับรู้มาจากทางประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีประสบการณ์ เช่น โรคระบาดในสมัยกรุงเทพฯ ตอนต้น ที่เอาศพคนตายไปทิ้งให้แร้งกินที่วัดสระเกศ หรือโรคระบาดซาส์และไข้หวัดนก แต่ก็ไม่ระบาดกว้างขวางไปทั่วโลก เพราะสามารถมีวัคซีนขึ้นมาแก้ไขได้