แนวเทือกเขาภูพานคำนี้ต่อเนื่องเป็นแนวเทือกเขาเดียวกับแนวเขาด้านในสุดด้านตะวันออกของที่ราบลุ่มน้ำงึมในประเทศลาว และถูกแม่น้ำโขงตัดผ่านแนวเทือกเขานี้จนแยกออกอยู่ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ
บริเวณเชิงเขาภูพาน ในเขตบ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน เป็นที่ตั้งของพระพุทธบาทบัวบก และพระพุทธบาทหลังเต่า ซึ่งมีร่องรอยพุทธสถานเป็นกลุ่มอารามที่มีการปักหินเสมาเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาเป็นกลุ่มๆ หลายแห่งและหลายช่วงเวลา กล่าวได้ว่าเป็นอารามแบบอรัญวาสีอย่างชัดเจน
ส่วนพระพุทธบาทบัวบาน อยู่ในเขตบ้านไผ่ล้อม ตำบลเมืองพาน พบกลุ่มเสมาหินทราย จำหลักภาพบุคคลตามเรื่องราวในพุทธประวัติและชาดก ปักเป็น ๘ ทิศ ซ้อนกัน ๓ หลัก บางหลักถูกทำให้ล้ม หลายหลักถูกดินทับถม มีจำนวนทั้งหมด ๓๑ หลัก นับเป็นบริเวณที่แสดงถึงรูปแบบคติการปักใบเสมาแปดทิศที่ชัดเจนและสมบูรณ์ที่สุด
ไม่ไกลจากพระบาทบัวบาน คือบ้านหนองกะลึม ที่มีตำนานเล่าว่าเป็นบ้านเกิดของเจ้าราชครูหลวงโพนสะ-เม็ก หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า ยาคูขี้หอม ซึ่งเป็นผู้นำราษฎรข้ามโขงมาบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม และเป็นพระเถระผู้ใหญ่และผู้นำทางจิตวิญญาณและการเมือง นำผู้คนอพยพไปสร้างบ้านเมืองเป็นแคว้นจำปาสักสืบต่อมา
หมู่บ้านนี้เป็นชุมชนเก่า เพราะมีเนินดินโบราณขนาดใหญ่ กลางชุมชนพบเสมาปักอยู่ในบริเวณที่เป็นวัดโนนศิลาอาสน์ในปัจจุบัน ใบเสมากลุ่มนี้แสดงเรื่องเล่าในพุทธประวัติและชาดก ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับเรื่องราวและลวดลายบนใบเสมาพบบนเขาที่พระบาทบัวบาน ทั้งสองแห่งนี้มีลักษณะเทียบเคียงกันได้ว่า เป็นงานช่างทำขึ้นในคราวเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน น่าจะอยู่ในช่วงทวารวดีตอนปลายและศิลปะร่วมแบบเขมรแบบเกาะแกร์ ที่กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา
ข้อสังเกตก็คือ แม้จะได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมแบบเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลในทางความเชื่อแบบฮินดูตามแบบเขมร เพียงแต่รับอิทธิพลงานช่างแบบเขมรมาเท่านั้น แต่เห็นได้ชัดว่าอยู่ในธรรมเนียมการนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่เน้นการปฏิบัติธรรมในพื้นที่ห่างไกลและป่าเขาแบบอรัญ-วาสี
หลังจากการเข้ามาใช้พื้นที่ของพระป่าบนลานหินใช้เพื่อทำพิธีกรรมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แล้ว ก็มีการเข้ามาของพุทธศาสนาที่กำหนดเพิงหินรูปร่างแปลกตา เช่นคล้ายดอกเห็ดบ้าง คล้ายพานที่ตั้งอยู่บนแท่นบ้าง เป็นเขตอรัญวาสีอย่างต่อเนื่องเช่นที่บนเทือกเขา
การปักเสมา ๘ ทิศ รอบขอบเขตลานหิน ที่กู่นางอุสา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
พระบาทบัวบกมีการปักเสมาล้อมรอบขอบเขตบนลานหิน ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์เป็นกลุ่มๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน จนดูคล้ายการแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นหลายคณะ แม้มีเพิงผาที่พักแบ่งแยกชัดเจนแต่ก็อยู่ในบริเวณเดียวกัน อาณาเขตของคณะต่างๆ กว้างขวาง มีการเจาะรูน้ำสำหรับดึงขึ้นมาใช้และบางแห่งก็เจาะพื้นเป็นบ่อน้ำเก็บน้ำไว้ได้บนลานหิน สมเป็นสถานที่พิเศษที่เงียบสงบเพื่อปฏิบัติธรรมสมาธิวิปัสสนาอย่างยิ่ง