ภาพเขียนสีในถ้ำคน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
บริเวณเหล่านี้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่อเนื่องกันมานับจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏภาพเขียนสีลวดลายเรขาคณิต ภาพฝ่ามือ ภาพเลียนแบบคนและสัตว์ต่างๆ เขียนไว้ตามผนังหรือใต้เพิงหินหลายจุด และในกาลต่อมาบริเวณเพิงผาหินและลานหินเหล่านี้ถูกปรับเพื่อใช้เป็นสำนักสงฆ์หรือวัดที่แฝงเร้นตามป่าเขา อันเรียกได้ว่าเป็นอรัญวาสีทางพุทธศาสนา
พระบาทบัวบกและพระบาทบัวบานในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานคำ อยู่ทางทิศตะวันตกของอุดรธานี ประกอบด้วยทิวเขาขนาดใหญ่และภูเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ในแนวเดียวกัน เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาภูพานที่กั้นขวางระหว่างแอ่งโคราชและแอ่งสกลนครบนที่ราบสูงของอีสาน ขอบของแอ่งนี้ยกตัวขึ้นเป็นแนวเขาหินทรายเป็นส่วนใหญ่ รอบๆ เขานี้มีป่าไม้ ๓ ชนิด คือ ป่าเต็งรัง พวกไม้เต็ง รัง เหียง พลวง ป่าเบญจพรรณ ไม้ที่พบได้แก่ ประดู่ แดง เหียง เต็ง รัง ตะแบก ส้าน ซ้อ มะม่วงป่า กะบาก ยอป่า ป่าดิบแล้ง ไม้ที่พบได้แก่ มะค่าโมง ประดู่ ตะเคียนหิน ไทร เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นที่พบเป็นส่วนใหญ่ในภาคอีสานและยังคงมีสภาพสมบูรณ์อยู่มาก เป็นที่กำเนิดของลำน้ำโมงที่ไหลไปตกแม่น้ำโขง