สำหรับโบราณสถาน เท่าที่สำรวจพบแล้วทั้งภายในเมืองและนอกกำแพงเมืองมีมากกว่า ๔๒๕ แห่ง แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโบราณสถานที่สำคัญ และอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาพื้นที่ ๑,๘๑๐ ไร่ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเกาะเมืองและพื้นที่ด้านทิศเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง มีโบราณสถานที่สำรวจพบแล้วทั้งสิ้น ๙๕ แห่ง
ทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาที่มีลักษณะเป็นเกาะเมืองมีแม่น้ำที่สำคัญ ๓ สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน รวมทั้งเป็นชุมทางคมนาคม และเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึก ศัตรู กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นราชธานีใหญ่สามารถกุมอำนาจเหนือเมืองใกล้เคียงเป็นเวลานาน
กรุงศรีอยุธยายังมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการปกครอง กฎหมายการศาล ระบบสังคม การศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ ภาษาวรรณกรรม และ นาฏดุริยางคศิลป์ วิทยาการทุกแขนง ที่คนไทยในอาณาจักรอยุธยาสั่งสมไว้นั้น เป็นอารยธรรมที่กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ยึดถือเป็นแบบแผน
ในแง่มุมของการบุกเบิกและทำการสำรวจตามระเบียบแบบแผนการวิจัยอย่างเป็นทางการ รายงานภาคสนามบันทึกการสำรวจวัด โบราณสถาน และโบราณวัตถุในอยุธยาด้วยภาพถ่ายและภาพวาดลายเส้น โดย อาจารย์ น. ณ ปากน้ำและคณะ ตามโครงการของคณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา ๒๐๐ ปี ถือว่าเป็นบันทึกหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาที่นำมาใช้เป็นหลักฐานทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอของการทำงานเชิงวิจัยในรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะการสื่อสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีกับสาธารณชนหรือบุคคลทั่วไปผ่านการนำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือ ‘ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา’
สำหรับประเด็นสำคัญที่ไม่ค่อยมีการหยิบมากล่าวถึงในชั้นหลังกันมากนัก คือ กรณีศึกษาพระพุทธรูปศิลาสมัยก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ
อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ มีความเห็นว่า พระพุทธรูปศิลา หรือหินทรายทั้งหมดเป็นงานก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา หากจะทำกันอยู่บ้างในสมัยอยุธยาตอนต้นก็เป็นส่วนน้อย โดยใช้ทฤษฎีศิลปะร่วมสมัยเข้ามายืนยันถึงหลักฐานและความเชื่อนี้ว่า ในสมัยบายนตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เขมรหันมา สร้างพระพุทธรูปจากสำริดมากขึ้น ทำให้พระพุทธรูปศิลาหมดความนิยมลงไป ดังนั้นพระพุทธรูปศิลาซึ่งพบที่กรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ควรเป็นของมีมาก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยเรียกว่า ศิลปะอโยธยา ซึ่งมีอายุร่วมสมัยศิลปะอู่ทอง
อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) ที่วัดสามวิหาร
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒
ที่มา: วารสารเมืองโบราณ-มากกว่าความคิดถึง บันทึกถึงอาจารย์ยูร