ผู้เข้าชม
0
8 กรกฎาคม 2567

 

ภาพเส้นทางรถรางสายสามเสน สายดุสิต และสายหัวลำโพง ที่ผ่านย่านบางลำพู

ที่มา: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ภ. WH2171 รูปถ่ายทางอากาศชุด Williams Hunt

ภาพบริเวณสะพานนรรัตน์ (2489). อ้างถึงในเว็บไซต์พิพิธบางลำพู



นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา รัฐบาลจึงมีนโยบายยุบกิจการรถรางลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตัดเส้นทางรถรางในส่วนที่มีความจำเป็นน้อยลง หรือกีดขวางการพัฒนาสาธารณูปโภคด้านอื่น ตลอดจนยุติกิจการเดินรถรางตลอดทั้งสาย


โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐบาลได้ตัดเส้นทางการเดินรถรางสายสามเสนตอนเหนือ ตั้งแต่บางกระบือ ถึงบางลำพู ก่อนจะยุติกิจการเดินรถรางตลอดทั้งสายในวันที่ ๑ สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เช่นเดียวกับรถรางสายหัวลำโพงที่ยุติการเดินรถ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ในปีเดียวกัน 

ส่วนรถรางสายดุสิต เป็นรถรางสายเดียวที่ยังคงดำเนินกิจการรถรางจนถึงปีสุดท้าย แต่ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ รัฐบาลได้ตัดเส้นทางรถรางสายดุสิตรอบนอกออก ตั้งแต่บริเวณแยกสี่เสาเทเวศร์ ถึงสถานีสะพานดำ ถัดจากนั้น ๕ เดือน ได้มีการตัดเส้นทางรถรางสายดุสิตเพิ่มเติม ในส่วนที่เชื่อมระหว่างสถานีวัดเลียบถึงถนนมหาไชย และระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครถึงบ้านมะลิวัลย์ หรือองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปัจจุบัน และดำเนินกิจการต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงยุติกิจการรถรางสายดังกล่าว นับเป็นการปิดฉากอย่างสมบูรณ์แบบของรถรางที่ทำการคมนาคมบนผิวจราจรปกติหรือถนนในปัจจุบัน

ข้อมูลในวารสาร ‘The Modern Tramway’ เล่มที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ของสำนักพิมพ์ the Light Railway Transport League ได้บันทึกประวัติศาสตร์รถรางไฟฟ้าในประเทศไทยไว้พอสรุปได้ดังนี้

+ ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ มีการทำพิธีเปิดการใช้รถรางเป็นครั้งแรกโดยใช้ม้าลากไปตามราง เริ่มเส้นทางถนนเจริญกรุง “สายบางคอแหลม” มีม้าอะไหล่สำหรับผลัดเปลี่ยนเป็นระยะ 

+ ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ โอนกิจการให้แก่ บริษัท รถรางกรุงเทพฯ จำกัด ของชาวอังกฤษ ปรับปรุงกิจการรถรางให้สะดวกขึ้นอีกเล็กน้อยแต่ยังใช้ม้าลากอยู่ 

+ ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ โอนกิจการรถรางไปให้บริษัทของชาติเดนมาร์ก และปรับปรุงรถราง เปลี่ยนเป็นใช้กระแสไฟฟ้าแทนการใช้ม้าลาก โดยตกลงเช่ากระแสไฟฟ้าจากบริษัท อิเลคทริค ซิตี คอมปะนี ลิมิเต็ด 

+ ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เปิดเดินขบวนรถรางเคลื่อนที่ด้วยกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรก นำโดยกลุ่มบริษัทของชาติเดนมาร์ก  + ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ โอนกิจการเข้าไปรวมเป็นบริษัทเดียวกับบริษัท อิเลคทริค ซิตี คอมปะนี ลิมิเต็ด บริษัทที่ให้เช่ากระแสไฟฟ้า และเปิดรถราง “สายสามเสน” เพิ่มขึ้น

+ ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ มีผู้ตั้งบริษัทขึ้นอีกรายคือ บริษัท รถรางไทย โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้เดินรถรางในกทม. เปิดเส้นทางใหม่คือ สายดุสิต รวมถึงสายอื่นๆ 

+ ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ บริษัทรถรางไทยโอนกิจการไปรวมกับบริษัทฝรั่ง เปลี่ยนนามใหม่เป็นบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด เกิดสายรถรางวิ่งบนท้องถนนถึง ๑๑ สาย