การเกิดอุทกภัยในจังหวัดเชียงรายเมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา กระแสน้ำท่วมไหลผ่านได้ส่งกระทบถึง ๕๑,๓๕๓ ครัวเรือน เสียชีวิต ๔ คน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงราย สรุปสถานการณ์น้ำท่วมและดินถล่มในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ ๙-๑๒ กันยายน ซึ่งเป็นผลกระทบจากพายุยางิที่ทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนัก โดยเกิดน้ำท่วมและดินถล่มใน ๖ อำเภอ ๒๕ ตำบล ๑๒๕ หมู่บ้าน ๑ เทศบาลนคร (๒๒ ชุมชน) ตลาดชุมชนเศรษฐกิจ ๒ แห่ง รวมถึงร้านค้า-สถานประกอบการ ๙๒ แห่ง ทำให้นึกถึงบทความ ‘เวียงในเชียงรายความวิบัติภายใต้เงาทะมึนของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ หรือเมื่อ ๓๐ ปีผ่านมาแล้ว โดยนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์และภูมิวัฒนธรรมท้องถิ่นมาฉายภาพคาดเดาถึงความเป็นไปได้ของอนาคต และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เชียงรายคราวนี้น่าจะเป็นคำตอบปรากฏชัดได้เช่นกัน
สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๗
ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย
‘….เชียงรายคือหัวเมืองต่อแดนในภาคเหนือ รุ่งเรืองและร้างรามาหลายยุคหลายสมัย เป็นหน้าด่านตอนบนของล้านนาที่ปะปนไปด้วยผู้คนต่างเผ่าต่างชาติพันธุ์ ศูนย์รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรม…คือชีวิตที่เคยเป็นอยู่
ความผันเปลี่ยนของทุ่งราบแม่จัน-เชียงแสน-แม่สายในภาพรวมของเชียงรายเป็นไปภายใต้กระแสธารแห่งกาลเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การปลูกข้าวยังเป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ในเชียงราย การผลิตข้าวได้มากทำให้เชียงรายมีโรงสีเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานมากที่สุดในภาคเหนือ ทว่า ๑๐ ปีหลังจากนั้นเชียงรายกลับกลายเป็นจังหวัดที่ผลิตขิงอ่อนได้มากที่สุด เป็นการปลูกเพื่อส่งออกเพียงเพราะว่าขิงอ่อนที่เชียงรายถูกรสนิยมญี่ปุ่น
นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มีการขยายตัวของธุรกิจเรียลเอสเตทในเชียงราย ทั้งการขายที่ดิน พัฒนาที่ดินและการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เป็นผลพวงมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่คือการสร้างสนามบินนานาชาติเชียงราย โครงการพัฒนาดอยตุง ปีท่องเที่ยวไทย นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นตลาดการค้าของรัฐบาลชาติชาย โครงการคาสิโนที่สามเหลี่ยมทองคำ ด้วยการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เชียงรายจึงเป็นบ้านหลังที่สองและสนามกอล์ฟของคนจากเมืองหลวง
ถึงปัจจุบัน โรงสีขนาดเล็กในเชียงรายปิดกิจการลงหลายแห่ง ธุรกิจค้าข้าวไม่ให้ผลกำไรเหมือนก่อน ชาวนามีโอกาสกู้เงินจากแหล่งอื่นโดยไม่ต้องพึ่งโรงสี ความเคลื่อนไหวของราคาข้าวมาจากช่องทางข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างขึ้น โรงสีใหญ่ที่ทันสมัยเข้ามาแทนที่ ในขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกข้าวลดลง เพราะคนปลูกข้าวขายที่ดินของตนเอง ที่หมู่บ้านบ่อก้าง อำเภอแม่จัน มีนายทุนญี่ปุ่นมาเปิดกิจการโรงสีผลิตข้าวบาสมาติกเพื่อส่งออก ผืนดินอุดมของเชียงรายหล่อเลี้ยงไปถึงหมู่คนแข็งกระด้างในโลกอุตสาหกรรม
ในคืนวันที่สถิติการซื้อขายรถกระบะและรถจักรยานยนต์ในเชียงรายพุ่งสูง ดอยจัน ดอยแห่งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นดอยจันรีสอร์ท ห้ามบุคคลภายนอกเข้า หนองบงกายหรือทะเลสาบเชียงแสนกลายเป็นบึงขี่สกู๊ตเตอร์ ริมแม่น้ำโขงที่ดินมีค่าราวกับทองคำ เส้นทางโสเภณีเปิดด้วยนโยบายสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ห้าเชียง เชียงรายได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง....’