ผู้เข้าชม
0
25 พฤศจิกายน 2565

เครื่องประดับอุทิศเป็นพุทธบูชาควรค่าเมือง

จากปิปราห์วาสู่คาบสมุทรสยามประเทศที่คอคอดกระ

หลังจากการขุดค้นพบโบราณวัตถุสำคัญที่เป็นหีบหินทรายขนาดใหญ่ พบภาชนะทำจากหินสบู่ที่มีการบรรจุพระบรมธาตุภายในแล้วมีการแจกจ่ายกันออกไปในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศไทย เปบเปผู้ขุดค้นได้รับอนุญาตให้นำเครื่องประดับเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาส่วนหนึ่งกลับไปเป็นสมบัติส่วนตัวที่อังกฤษเมื่อย้ายกลับไป และปัจจุบันตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทรุ่นปัจจุบันที่สนใจในการศึกษาอีกครั้งหนึ่งจึงอนุญาตให้นักวิชาการหลากหลายเข้ามาศึกษาและนำไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในหลายประเทศ

สิ่งที่น่าพิศวงก็คือ เครื่องประดับทำจากหินกึ่งรัตนชาติเหล่านี้ ทั้งวัตถุดิบจากหินชนิดต่างๆ รูปแบบการผลิตและฝีมือช่างนั้นปรากฎว่ามีแหล่งผลิตใหญ่อยู่บริเวณคอคอดกระทั้งสองฝั่งทะเล คือ บริเวณเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ไปจนถึงท่าชนะในจังหวัดสุราษฎร์ธานีทางฝั่งอ่าวไทยและบริเวณแม่น้ำกระและบางกล้วยและภูเขาทองในจังหวัดระนองทางฝั่งอันดามันที่ปรากฎว่าเป็นแหล่งผลิตลูกปัดจากหินกึ่งรัตนชาติขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งที่อยู่นอกอนุทวีปอินเดีย และมีหลักฐานแวดล้อมว่าน่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๘ หรือราว ๒๐๐ B.C.-๓๐๐ A.D. ซึ่งน่าจะเป็นข่วงเวลาร่วมสมัยกันในช่วงหลังการครองราชย์ของพระเจ้าอโศกฯ แห่งราชวงศ์โมริยะไปแล้ว

โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์อัญมณีโบราณ ดร. แจ็ค ออกเดน [Dr. Jack Ogden] (Jack Ogden. Report on the beads and related objects from the Piprahwa stupa. 2018. https://static1.squarespace.com/static/561b7e62e4b0b66177bc2043/

t/5d4bfe1f1b41860001ec86e1/1565261412774/Piprahwa+Report-JO.pdf)

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๙ จนมีบทความสำคัญในการวิเคราะห์เครื่องประดับเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาเหล่านี้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ระบุว่า แบ่งออกเป็นพวกดอกไม้ที่รวมกันเป็นชิ้น เครื่องทองแผ่นบางทำเป็นกลีบดอกไม้และบางชิ้นมีรอยประทับเป็นรูปสิงห์ก็มี หินกึ่งรัตนชาติที่ยังไม่ได้เจียระไน ไข่มุกและปะการัง วัตถุดิบและฝีมือช่างที่ผลิตเครื่องประดับพบที่ปิปราห์วานี้ มีคุณภาพดีมากและผลิตโดยช่างที่ฝีมือขั้นสูงมากเมื่อเปรียบเทียบจากวัตถุที่พบจากสถูปอื่นๆ ที่พบจากแถบบังคลาเทศ อัฟกานิสถาน ปากีสถานและอินเดีย ซึ่งตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า เป็นสิ่งของพุทธบูชาในกลุ่ม “ชนชั้นสูง” ทางศาสนาหรือในกลุ่มผู้ปกครอง ซึ่งน่าจะมีอายุอยู่ในราวไม่เกิน ๑๐๐ B.C.- ๒๐๐ หรือ ๒๐๐ B.C. ซึ่งอายุของจารึกที่ถูกวิเคราะห์ก็อยู่ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒ (๑๐๐ B.C.- ๑๕๐ B.C.)

เครื่องประดับทำจากหินกึ่งรัตนชาติในปัจจุบัน

เครดิตภาพ ๑.-๖. จากเวบไซต์ http://www.piprahwa.com

 

วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำลูกปัดทำจากลูกปัดทำจากวัสดุหลายชนิด ได้แก่ อเมทิสต์ (ควอทซ์สีม่วง), อะความารีน (เบริลสีฟ้า), คาร์เนเลียน (และคาร์นีเลียนเซาะร่องสีขาว), ซิทริน (ควอทซ์สีเหลือง), ปะการัง, โกเมน, แก้ว, โมราเขียว, ไอโอไลต์ มุก, คริสตัลและเปลือกหอย

ลูกปัดคาร์เนเลียนขนาดเล็กที่ทำขึ้นอย่างประณีต โดยมีชั้นสีขาวที่เป็นสีธรรมชาติ และชั้นสีแดงในเม็ดเดียวกันที่น่าจะถูกการหุงหรือปรุงแต่ง น่าจะเป็นเม็ดกระดุมและกลีบดอกไม้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ ๘ กลีบ รูปลักษณ์เช่นนี้พบที่ตักศิลา และ ‘วารี-เบตาชวาร์ Wari-Bateshwar’ ในบังคลาเทศ (ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีทางพุทธศาสนาขนาดใหญ่และแหล่งการค้าอายุเริ่มแรกใกล้เคียงกัน)