ผู้เข้าชม
0
17 กันยายน 2567

ลักษณะพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่ม มีเนินสูงอยู่ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดโลการาม วัดประจำหมู่บ้าน และมีคลองไหลผ่านสองสาย คือ คลองสทิงหม้อ และคลองอด ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด ๖๖๙ คน มีครัวเรือน ๔๓๐ หลังคาเรือน คนในชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติ พี่น้อง ชาวสทิงหม้อส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีอาชีพหลักคือ ค้าขาย และมีอาชีพเสริมคือ รับจ้างทั่วไป

ที่มาของชื่อชุมชนมีผู้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ต่างกัน สทิงหม้อ จึงเป็นชื่อตำบลและหมู่บ้านที่มีสองนัย 

นัยแรก กล่าวว่า สทิง แปลว่า ท่าน้ำ และ หม้อ ก็คือ ภาชนะชนิดหนึ่ง รวมกันเป็น สทิงหม้อ แปลว่า ท่าขนส่งหม้อ กล่าวคือ เมื่อครั้งที่หม้อภาชนะดินเผา ที่เป็นสินค้าหลักของหมู่บ้านนี้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ปากน้ำยังตรงปากคลองสทิงหม้อเป็นร่องน้ำลึก มีเรือสินค้าเข้ามา สถานที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นท่าเรือสำหรับการขนส่งสินค้า คือ หม้อ นำไปขายทั้งเมืองใกล้เมืองไกล เมื่อเวลาผ่านไปคำนี้จึงกลายเป็นชื่อตำบล หมู่บ้านในที่สุด
 


หม้อดินเผาทำลวดลายต่างๆ เป็นสินค้าหลักของหมู่บ้าน 

นัยที่สอง กล่าวกันว่า สทิง เป็นชื่อของชายเชื้อสายจีน มีอาชีพทำหม้อ และมีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า เริ่มแรกเดิมทีสถานที่ตรงนั้นไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ต่อมาเมื่อชาวจีนแล่นเรือเข้ามาขายข้าวกับเมืองสงขลา ชาวจีนบางส่วนจึงได้ตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวจีนผู้หนึ่งชื่อ แป๊ะทิง หรือ ทิ้ง ชาวจีนเซี่ยงไฮ้ได้เข้าไปตั้งบ้านเรือนเป็นคนแรกและประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ด แต่มีความรู้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาด้วย เขาจึงได้เริ่มปั้นหม้อใช้เองและจำหน่ายให้คนทั่วไปจนเป็นที่รู้จัก ชาวบ้านจึงขนานนามที่ตั้งบ้านแป๊ะทิ้งว่า บ้านแป๊ะทิงทำหม้อ เมื่อเรียกให้สั้นกร่อนลงเหลือ แป๊ะทำหม้อ และ สทิงหม้อ ในที่สุด

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสิงหนคร ได้กล่าวถึงประวัติบ้านสทิงหม้อ มีใจความว่า มีตำนานเล่าว่า ราษฎรในหมู่บ้านมีอาชีพปั้นดินแล้วนำมาเผา ซึ่งสิ่งที่ปั้นทั้งหมดนั้นจะเป็นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือน เมื่อปั้นและเผาเสร็จจะบรรทุกเรือ นำไปเร่ขายในหมู่บ้านใกล้เคียง คนในหมู่บ้านนี้มีความภาคภูมิใจในฝีมือการปั้นมาก มี สทิง ซึ่งแปลว่า สวยงาม จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า สทิงหม้อ
 

หม้อดินเผาทำลวดลายต่างๆ เป็นสินค้าหลักของหมู่บ้าน