ผู้เข้าชม
0
17 กันยายน 2567

ชุมชนช่างปั้นของชาวสทิงหม้อเลือนหายไปตามวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยน ร่องรอยที่หลงเหลือของชุมชนบ้านสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ ๘ กิโลเมตร มีคลองสทิงหม้อไหลผ่านด้านตะวันตกของชุมชนเป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีร่องรอยของความเป็นเมืองท่าและยังคงสืบทอดการทำเครื่องปั้น ดินเผาแบบโบราณ ลักษณะที่โดดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ ใช้เนื้อดินเหนียวธรรมชาติจากตำบลปากรอ มาปั้นและเผาโดยไม่มีการเคลือบน้ำยามีสีสันสวยงามตามธรรมชาติ

การวิจัยและการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีชุมชนผลิตเครื่องปั้นดินเผาลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือออกทะเลสาบสงขลาสู่อ่าวไทยนับแต่อดีต โดยเฉพาะพื้นที่ริมคลอง ซึ่งเป็นแหล่งเตาเผาโบราณมีความโดดเด่นเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของพื้นที่อันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง 
 


คลองสทิงหม้อ ไหลผ่านด้านตะวันตกของชุมชนโบราณ
ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ชุมชนช่างปั้นและเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อไม่มีคนสืบทอดและเลิกการผลิตไปเสียแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยทำงานในวิชาชีพนี้ก็เลิกละวางมือและค่อยๆ ล้มหายตายจากไปตามอายุขัย เพราะฉะนั้นข้อมูลทั้งงานวิจัยและงานสัมภาษณ์ของชุมชนโบราณสทิงหม้อ คาบสมุทรสทิงพระ จึงทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง 

เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว ข้อมูลสัมภาษณ์ที่มีคุณค่ายิ่งของ อมรา ขันติสิทธิ์ และศรีอนงค์ ทองรักษาวงศ์ สองนักโบราณคดีที่ลงภาคสนามทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพัฒนาการและการเชื่อมต่อเกี่ยวโยงรุ่นต่อรุ่นของอุตสาหกรรมขนาดเล็กเครื่องปั้นดินเผาในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา 

จากคำบอกเล่าของบรรดาผู้สูงอายุในชุมชนสทิงหม้อ จังหวัดสงขลา มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า บรรพบุรุษของชาวสทิงหม้อน่าจะอพยพมาจากชุมชนโบราณในคาบสมุทรสทิงพระ เช่น ชุมชนโบราณสทิงพระ ชุมชนโบราณพังยาง คนรุ่นแรกที่อพยพมามีความชำนาญในการทำภาชนะดินเผา จึงยึดอาชีพนั้นเลี้ยงตัวและส่งต่อความรู้สู่ลูกหลานสืบมา ชาวสทิงหม้อจึงเป็นนักปั้นหม้อกันทั้งหมู่บ้าน เป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนอย่างเดียวที่ทำให้ชาวสทิงหม้อเลี้ยงตัวอยู่ได้
 


ทะเลสาบสงขลา