ผู้เข้าชม
0
24 เมษายน 2564

 

ภูมิทัศน์บริเวณเมืองไชยาโดยรอบ แนวเขาด้านหน้าคือเขาพุทธทอง ด้านล่างคือ 'วัดแก้ว'

 

 

ภาพวาดแนวผังเมืองไชยาบนสันทรายเก่าที่มีศาสนสถานสำคัญเรียงราย โดยมีเขาน้ำร้อนเป็นแกนหลัก


แต่ความเป็นราชอาณาจักรที่มีโครงสร้างการปกครองรวมศูนย์ปรากฏขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าบ้านเมืองที่ประกอบด้วยหลายนครรัฐแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ขึ้นไป ก็คือการเป็นกลุ่มของนครรัฐ ซึ่งหมายความว่าเมืองอโยธยาหรืออยุธยาเอง ก็เป็นหนึ่งในนครรัฐที่มีสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นประมุขของสหพันธรัฐดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับแนวคิดของศาสตราจารย์วอลเตอร์สในการเรียก ‘มัณฑละ’ เพราะหมายถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองในรูปการกินดองของการแต่งงานระหว่างกษัตริย์ผู้ปกครองแต่ละนครรัฐ

มัณฑละในที่นี้จึงหมายถึงแวดวงของกษัตริย์ [Circle of the kings] ไม่ใช่แวดวงของนคร [Circle of the city states]

 

ไชยา : มัณฑละหนึ่งในสหพันธรัฐศรีวิชัย

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปสอนวิชาประวัติศาสตร์โบราณคดีประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลเป็นเวลา ๖ เดือน ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้กับศาสตราจารย์วอลเตอร์ส ศาสตราจารย์สแตนลีย์ เจ. โอคอนเนอร์ [Prof. Stanley O’Connor] นักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ และศาสตราจารย์โทมัส เคิร์ช [Prof. Thomas Kirsch] นักมานุษยวิทยาอาวุโส ผู้ร่วมงานกับอาจารย์วอลเตอร์สในการศึกษาประวัติศาสตร์ศรีวิชัย

ข้าพเจ้าเคยเสนอกับท่านว่า ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับการเป็นกลุ่มของนครรัฐในรูปสหพันธรัฐของศรีวิชัยที่เรียกว่า มัณฑละ เพราะได้ศึกษาการเมืองการปกครองในลักษณะนี้เช่นกันกับเมืองอโยธยา และนครรัฐร่วมสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๑  คือเกิดก่อนการรวมศูนย์อำนาจที่พระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชอาณาจักร และข้าพเจ้าเชื่อว่าก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นั้น ประเทศไทยแต่โบราณไม่มีบ้านเมืองใดรวมตัวกันเป็นราชอาณาจักรทั้งสิ้น คงจะมีแต่ที่กัมพูชาในสมัยเมืองพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ลงมา บ้านเมืองแต่สมัยเจนละและสมัยทวารวดีในประเทศไทยที่มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ก็หาเรียกได้ว่าเป็นราชอาณาจักรไม่

ซึ่งบ้านเมืองเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน หลวงจีนเหี้ยนจัง และหลวงจีนอี้จิง ที่เดินทางจากจีนไปสืบค้นและเล่าเรียนพุทธศาสนาในอินเดียระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ ได้กล่าวถึงบรรดารัฐต่างๆ เช่น ศรีเกษตร หลั่งยะสิว (นครชัยศรี) ทวารวดี อิศานปุระ และมหาจำปา ที่นับเนื่องในบริเวณแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบรรดารัฐที่อยู่บนคาบสมุทรและหมู่เกาะที่เรียกว่า ศรีวิชัย ซึ่งล้วนอยู่ร่วมสมัยเดียวกันทั้งสิ้น จากแนวคิดดังกล่าว

ที่เรียกว่าอาณาจักรทวารวดีก็ดี หรืออาณาจักรเจนละก็ดี ล้วนเป็นกลุ่มนครรัฐร่วมสมัยที่เป็นลักษณะมัณฑละทั้งสิ้น

งานค้นคว้าหลักฐานทางโบราณคดีของท่านพุทธทาสภิกขุชี้ให้เห็นว่า บ้านเมืองรอบอ่าวบ้านดอนอยู่ในอาณาบริเวณของกลุ่มเมืองศรีวิชัยที่เรียกว่า ‘มัณฑละ’ เพราะนอกจากพบโบราณสถานและโบราณวัตถุในพุทธศาสนามหายาน และจารึกที่ปรากฏพระนามพระเจ้ากรุงศรีวิชัยแล้ว ยังสัมพันธ์กับการเป็นแหล่งเมืองท่าบนเส้นทางการค้าและการคมนาคม จากอินเดียและตะวันออกกลางผ่านคาบสมุทรไทยไปเวียดนามและจีนด้วย