ผู้เข้าชม
0
16 ธันวาคม 2567

ลำน้ำดำนั้นไหลลงจากเทือกเขาดอยตุงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไปรวมกับลำน้ำจันที่ไหลมาจากที่สูงทางตะวันตกเฉียงใต้เลียบภูเขาในเขตอำเภอแม่จัน ไปออกแม่น้ำโขงที่บริเวณสบคำเชิงเขาดอยจันที่อยู่ระหว่างเมืองเชียงแสนและเวียงปรึกษา 

ส่วนบริเวณที่สองคือ บริเวณด้านตะวันตกหลังเขาดอยจันที่เป็นหล่มเป็นหนองที่เรียกว่า หนองหล่ม ซึ่งปัจจุบันคนรู้จักกันในนามว่าทะเลสาบเชียงแสน และมีตำนานที่กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมืองที่มีชื่อว่า เมืองโยนกนาคพันธ์ อันเป็นต้นกำเนิดของคำว่า โยนก และกลุ่มคนยวน โดยคนชาติพันธุ์ไทยใหญ่ที่เคลื่อนย้ายจากลุ่มน้ำสาละวินผ่านมายังแม่น้ำกก และเคลื่อนย้ายผ่านเมืองเชียงรายมายังบริเวณหนองหล่มมาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ในบริเวณนี้ ผู้นำทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่ก็คือ พระเจ้าสิงหนวัติกุมาร 



ภูนางนอน ดูเป็นรูปผู้หญิงนอน
และเกิดตำนานนางนอนขึ้นภายหลัง

บริเวณแรกที่อยู่ตีนเทือกเขาดอยตุงนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวในการสร้างบ้านแปงเมืองของชุมชนกลุ่มลัวะ อันเห็นได้จากตำนานเมืองหิรัญนครเงินยางว่าผู้นำทางวัฒนธรรมคือ พระยาลวจักราชในกลุ่มของปู่เจ้าลาวจก ได้นำคนจากที่สูงของเทือกเขาดอยตุงลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมลำน้ำที่ตีนเขา แล้วเกิดการขยายตัวไปตามเขาและที่สูงตามบริเวณโดยรอบ เช่นที่สบรวก เชียงแสน ดอยจัน 

เมืองหิรัญนครเงินยางในตำนานนั้น ถ้ามองจากตำแหน่งที่ตั้งของตัวเมือง คือเวียงจันเป็นบริเวณที่มีแนวคันดินหรือกำแพงล้อมรอบนั้น น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเวียงพานคำที่อยู่เชิงเขาดอยจ้องริมลำน้ำแม่สาย ปัจจุบันเป็นอำเภอแม่สาย เพราะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สัมพันธ์กับดอยตุง เพราะดอยจ้องนั้นเป็นหนึ่งในภูสามเส้าที่ชาวบ้านชาวเมืองเรียกว่า ดอยจ้อง ดอยปู่เฒ่าและดอยตุง และคนรุ่นหลังในปัจจุบันเรียกว่า ภูนางนอน เพราะดูเป็นรูปผู้หญิงนอนและเกิดตำนานนางนอนขึ้นภายหลัง  

ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า ตำนานเกี่ยวกับดอยตุงอาจวิเคราะห์ได้เป็น ๓ ตอน ตอนแรกคือ ภูสามเส้า ตอนที่สองเรียกดอยตุง และตอนสามคือ ดอยนางนอน อันเป็นสมัยปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวของตำนานทั้งสามตอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะภูมิวัฒนธรรมเป็นสามยุคคือ ยุคหินตั้ง อันเป็นยุคของการทำไร่หมุนเวียนและการทำนาหว่านแบบไม่ทดน้ำ ยุคที่สองการสร้างบ้านแปงเมืองที่ทำการเพาะปลูก ทำนาแบบทดน้ำที่เป็นนาดำและเพาะกล้าอันสัมพันธ์กับระบบชลประทานแบบเหมืองฝาย ส่วนยุคที่สามคือยุคเกษตรอุตสาหกรรมในสังคมอุตสาหกรรมปัจจุบัน

หลักฐานที่ใช้ประกอบให้เห็นลักษณะภูมิวัฒนธรรมในยุคหินตั้งของแอ่งเชียงแสนก็คือ 

๑. การมีอยู่ของภูสามเส้าและตำนานเกี่ยวกับภูสามเส้า  

๒. บรรดาเครื่องปั้นหินขัดที่มีหลายรูปแบบที่กระจายอยู่ทั่วไปตามที่สูง ชายขอบที่สูงและที่ลาดต่ำ  

๓. เนินดินและหลักหิน กองหินที่แสดงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และหลุมศพของบุคคลสำคัญ 

ภูสามเส้า คือความคิดในเรื่องสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางจักรวาลและความเชื่อทางศาสนา มักจะตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นต้นน้ำที่ไหลลงหล่อเลี้ยงชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่และการเกษตรกรรม เป็นที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติที่ทุกคนต้องสยบและเกรงกลัว จะปรากฏตามภูเขาและโขดหินที่ดูแปลกประหลาดทางธรรมชาติ หรืออาจหมายถึงกองหินหรือก้อนหินที่มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งแสดงไว้เป็นสัญลักษณ์