ผู้เข้าชม
0
26 สิงหาคม 2563

“คุยก่อนเสวนากับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม”

ความสำคัญของหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร “มรดกทางสังคม” ของคนเมืองนครฯ

และบางส่วนจากงานเสวนาเรื่อง “พลิกพับพุด หนังสือบุดสมุดข่อยโบราณ สมบัติชาติและมรดกทางภูมิปัญญาอันหาค่ามิได้”


พุธที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์)  การจัดเสวนานี้สืบเนื่องมาจากการโจรกรรมหนังสือบุดนับพันเล่ม ซึ่งมีการไปขอและเก็บรวมรวมมาจากวัดและชาวบ้านในท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะพบว่าถูกนำไปขายออนไลน์และแวดวงการค้าของเก่า

หรือเอกสารโบราณที่เรียกโดยทั่วไปกันว่า ‘สมุดข่อย’ หรือ ‘สมุดไทย’ ลักษณะเป็นแผ่นยาวแผ่นเดียวพับกลับไปกลับมาเป็นชั้นๆ ให้เป็นเล่ม มีทั้งที่เป็นสมุดไทยขาวและสมุดไทยดำ การเขียนเพื่อทำให้ชัดเจนสมุดขาวก็ใช้หมึกดำ ส่วนสมุดดำก็ใช้หมึกขาวหรือ ยางรงสีเหลือง

‘สมุดไทย’ น่าจะเรียกเพื่อให้ต่างจากสมุดจีนหรือสมุดฝรั่ง โดยทั่วไปทำจากต้นข่อย จึงเรียก ‘สมุดข่อย' จะมีทางเหนือที่ทำจากต้นสา จึงเรียก ‘พับหรือปั๊บสา’ ส่วนทางใต้เรียกว่า ‘บุด’ ที่อาจจะย่อและเสียงมาจากคำว่าสมุด และคำว่า ‘สมุด’ นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร) ทรงสันนิษฐานว่ามาจากคำ ‘สัมปุฏ’ ในภาษาสันสกฤต ทางเขมรที่เรียกว่า ‘สมบุตร’ และไทยกลางใช้ ‘สมุดง ส่วนทางใต้เรียก ‘บุด’

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นสถานที่เก็บหนังสือบุดจำนวนหลายพันเล่ม นับว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งก็ว่าได้ เมื่อถูกโจรกรรมและเกิดเป็นข่าวครึกโครม ทางภิกษุและฆารวาสผู้ส่งเสริมรักษาความรู้ท้องถิ่นแห่งเมืองนครฯ จึงรวมตัวกันตั้งศูนย์ขอรับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนครฯ มีผู้รับซื้อเล่มที่ถูกโจรกรรมไปและนำกลับคืนมาบางส่วน แต่เนื่องจากไม่มีระบบการทำทะเบียนที่รัดกุมจากต้นสังกัด ทั้งยังไม่มีข้อมูลการลงทะเบียนเอกสารที่ควรทำและจำแนกประเภทและข้อมูลในหนังสือบุดนี้ไว้เป็นหลักฐานเบื้องต้นแต่อย่างใด จึงทำให้เกิดความสับสนว่าหายไปจำนวนเท่าไหร่ และที่ถูกส่งคืนมานั้นมาจากที่ใด จนน่าจะเป็นความโกลาหลหลังได้รับคืนกลับมาในระยะต่อไปค่อนข้างแน่

งานเสวนาของคณะทำงานที่ติดตามความคืบหน้าการรับคืนหนังสือบุดที่หายไป ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ และนักวิชาการ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความสำคัญของหนังสือบุดที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์) นี้ได้ข้อมูลรายละเอียดความสำคัญของเอกสารบางเล่ม และข้อมูลจากการสืบค้นการโจรกรรมที่มีการนำไปขายในระบบการสื่อสารออนไลน์และนำไปสู่การจับกุมผู้เกี่ยวข้องการโจรกรรมนี้ไปบางส่วน และความคืบหน้าโดยละเอียดว่าเกิดการโจรกรรมขึ้นมาได้อย่างไรนั้น ยังไม่มีคำตอบ

หนังสือบุด สมุดข่อย สมุดไทย พับสา ฯลฯ ล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแบบมีลายลักษณ์อักษร ที่บ่งชี้ความเจริญงอกงามของสังคมไทยมาแต่อดีต เป็นการบันทึกความรู้ ความเชื่อ ความศรัทธา รวมเข้าไว้ด้วยกัน และส่วนใหญ่ถูกบูชาไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นตามวัดวาอาราม อีกส่วนหนึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตำราบันทึกความรู้ต่างๆ ตำรายาเพื่อการรักษาเบื้องต้น เป็นต้น

นี่คือเหตุการณ์ใหญ่ที่ไม่ควรปล่อยให้ผ่านๆไปเท่านั้น เพราะจะเป็นการฟื้นบ้านฟื้นเมืองให้ผู้คนเข้าใจในความสำคัญของ ‘มรดกทางสังคม’ ที่มีความเคลื่อนไหว ไม่ใช่ "มรดกทางวัฒนธรรม" ที่มักถูกสรุปเอาว่าควรจะเป็นอขงใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดูแล


กระบวนการนี้ควรมีการขยับจากฝ่ายในท้องถิ่นในการเข้าไปมีส่วนร่วมดูแลรักษา หรือแม้แต่นำกลับไปจัดเก็บรักษาให้ทรงความหมายของความศรัทธาต่อสิ่งเหล่านี้เช่นแต่เดิม

และอย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีความทันสมัยของเครื่องมือบันทึกความรู้ต่างๆ กระบวนการจัดเก็บหรือบันทึกข้อมูลจากเอกสารต่างๆ เหล่านี้ในปัจจุบันใช้เวลาไม่นาน ควรมีการรีบทำโดยต้นสังกัดที่ทำให้เกิดการโจรกรรมนี้ร่วมกับหน่วยงานและนักศึกษาต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้อันมีค่ามหาศาลนี้ออกสู่สาธารณะโดยเร็ว ก่อนที่ผู้รู้หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาจเข้าใจความหมายที่ส่งต่อจากหนังสือบุดเหล่านี้จะไม่สามารถเชื่อมต่อและส่งต่อความรู้นี้ได้

เป็นหน้าที่อันท้าทายหน่วยงานและผู้คนอันเป็นองคาพยพต่างๆ ที่เป็นเจ้าของ ‘มรดกทางสังคม’ เหล่านี้อย่างยิ่ง

 



คำสำคัญ : หนังสือบุด,โจรกรรมหนังสือบุด,ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช,มรดกทางสังคม,มรดกทางวัฒนธรรม
กองบรรณาธิการ
อีเมล์: [email protected]
ศรีศักร วัลลิโภดม
อีเมล์: [email protected]
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและสังคม ผู้สนใจศึกษางานทางโบราณคดีมาแต่วัยเยาว์จนปัจจุบัน ปรากฎผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง