ผู้เข้าชม
0
11 มิถุนายน 2565

 

แม่น้ำสาละวิน เป็นเส้นเลือดใหญ่ของแผ่นดินพม่ามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สายน้ำพรมแดนพม่า - ล้านนา ที่ถูกระบุว่า หากข้าผู้หญิงล้านนาที่ตั้งครรภ์ สามารถหนีข้ามแม่น้ำไปคลอดลูกทางฝั่งพม่า มูลนายห้ามติดตามเข้าไป และหญิงนั้นกับลูก จะข้ามกลับมาอีกไม่ได้ ประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ เริ่มมีรายงานข่าวว่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน เพื่อพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในพม่า แนวเขื่อนชื่อ ยวาติ้ด เว่ยจี และ ดากวิน คือเส้นทางข้ามสู่อีกฝั่งแม่น้ำมาแต่เดิม

ภาพจาก https://transbordernews.in.th/home/wp-content/uploads/Map_Proposed-Dam-in-the-Salween-Basin-768x661.jpg สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

การมีทาสเป็นเรื่องที่พบเห็นและยอมรับกันได้โดยทั่วไป จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหารามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เริ่มเกิดแนวความคิดเรื่องสิทธิของประชากรในฐานะปัจเจกบุคคลขึ้นในสยาม เมื่ออำแดงจั่นทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๔ ว่าถูกนายเอี่ยมผู้เป็นผัวลักเอาชื่อไปขายเป็นทาส รัชกาลที่ ๔ ทรงให้สอบสวนกฎหมายเก่า ๆ มาประกอบคำพิจารณา ปรากฏว่ากฎหมายเก่าอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ พระองค์ทรงพระราชดำริว่ากฎหมายนี้ไม่ยุติธรรม ทำให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการขายตัวลงเป็นทาสขึ้นในปีจุลศักราช ๑๒๒๙ (พุทธศักราช ๒๔๐๙) ระบุว่า พ่อแม่จะขายลูก หรือผัวจะขายเมียเป็นทาสโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมไม่ได้ แต่สยามยังไม่ก้าวไปสู่กระบวนการเลิกทาสอย่างเป็นระบบ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัติ ปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ พระองค์ทรงมีชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา กับ ๑๐ วัน ต้องมีผู้สำเร็จราชการ แต่เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาสามารถว่าราชการได้ด้วยพระองค์เองในปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ พระองค์ทรงใช้โอกาสอันเป็นมงคลนั้นให้สำรวจ และ จดทะเบียนทาสที่เกิดในปีขึ้นครองราชย์ อันเป็นกระบวนการแรกของโครงการเลิกทาสในสยาม ที่พระองค์ใช้เวลาตลอดรัชสมัยดำเนินการ อาจจะกล่าวได้ในที่นี้ว่าโครงการเลิกทาสเป็นการโต้ตอบกับทัศนคติของชาวยุโรปที่มุ่งหวังจะใช้ข้ออ้างนี้ในการเข้ามาครอบครองสยาม

แต่ที่ล้านนาการมีทาสยังคงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป โครงการเลิกทาสที่ได้เริ่มต้นขึ้นในสยามยังไม่มาถึงดินแดนล้านนา เห็นได้จากหนังสือที่เขียนโดยมิชชันนารีชาวอเมริกันปีพุทธศักราช ๒๔๒๗ กล่าวถึง

... นอกเหนือจากบรรดาเชลยที่ถูกจับในสงครามและลูกหลานของพวกเขาแล้ว ยังมีลูกหนี้จำนวนมากที่ต้องตกเป็นทาส ..."