สุสานเจ้าเมืองสงขลาที่ฝั่งแหลมสน ที่บ้านใน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ขณะนั้นมีชาวจีนเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนคนหนึ่งชื่อ ‘เหยี่ยง แซ่เฮา’ ซึ่งอพยพมาจากเมืองเจียงจิ้งหู มลฑลฟูเจี้ยน ได้มีข้อเสนอแลกกับสัมปทานผูกขาดธุรกิจรังนกบน เกาะสี่เกาะห้า ในทะเลสาบสงขลา จึงแต่งตั้งให้เป็น ‘หลวงอินทคีรีสมบัติ’ นายอาการรังนกเกาะสี่เกาะห้า ซึ่งเป็นสินค้าผูกขาดของหลวง แล้วเลื่อนตำแหน่งเป็น หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลา
นับว่าเป็นการเริ่มต้นสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งต่อมาได้ปกครองเมืองสงขลาถึง ๘ รุ่น และสายตระกูลเจ้าเมืองสงขลาซึ่งเป็นชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนนี้ ล้วนใกล้ชิดกับส่วนกลางและราชสำนักนับแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และโดยเฉพาะรัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓ เมื่อต้องมีการปกครองแก้ปัญหาหัวเมืองมลายูทางใต้ลงไปของคาบสมุทรที่เมืองสงขลาถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยมีการสร้าง ‘เจดีย์สองพี่น้อง’ อันหมายถึงเจดีย์ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต) สร้างขึ้น เมื่อมากำกับการแก้ปัญหาหัวเมืองมลายูต่างคราวกัน
แผ่นดินบริเวณฝั่งบ่อยางนั้นมีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยตั้งแต่เมืองสงขลาที่เขาแดงล่มสลายไป เพียงแต่ไม่ถูกสถาปนาเป็นเมืองสงขลา กล่าวกันว่าวัดมัชฌิมาวาสแต่เดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกับวัดสุวรรณคีรีและวัดอื่นๆ เมื่อย้ายเมืองจากฝั่งแหลมสน บ้านหัวเขามาตั้งอยู่ทางฝั่งบ่อยางในสมัยรัชกาลที่ ๓ และซ่อมสร้างพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวนในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเจดีย์ ๒ พี่น้องและพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน กลายเป็นเจดีย์สัญลักษณ์หนึ่งของเมืองสงขลาในสมัยกรุงเทพฯ