ผู้เข้าชม
0
26 พฤศจิกายน 2567

เมื่อมีการค้นพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ภูเขาปลาร้า จึงทำให้คิดไปได้ว่าภาพเขียนที่ภูเขาปลาร้า และแหล่งโบราณคดีที่เขานาคนั้น น่าจะมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างใดอย่างหนึ่ง บางทีผู้ที่วาดภาพเขียนสีบนภูเขาปลาร้านั้น อาจจะไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหน อาจจะเป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่ที่เขานาคก็ได้ และนอกจากนี้น่าจะได้มีการศึกษาค้นคว้าว่าภาพเขียนสีที่ภูเขาปลาร้านี้ จะมีส่วนสัมพันธ์ คล้ายคลึงหรือแตกต่างไปจากภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำรูปเขาเขียว ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับเขตแดนทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี 
 


ภาพเขียนสีที่ ‘ผาแต้ม’ เขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

ในการศึกษาภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เชิงมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปฏิกิริยาที่มีต่อสัมพันธสารหรือวาทกรรมที่ขึ้นอยู่กับสิ่งตรงกันข้ามระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตามที่มนุษย์ได้อยู่อาศัยในสภาวะธรรมชาติ นักมานุษยวิทยาได้โต้เถียงว่า วัฒนธรรม คือธรรมชาติของมนุษย์ และผู้คนทั้งหลายมีความสามารถที่จะจำแนกประสบการณ์ ถอดรหัสการจำแนกในเชิงสัญลักษณ์ และสอนความเป็นนามธรรมนั้นให้แก่ผู้อื่น โดยที่มนุษย์ได้วัฒนธรรมมาด้วยการเรียนรู้ในกระบวนการของการทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมและการสัมพันธ์กันในสังคม

เมื่อผู้คนอยู่อาศัยในที่แตกต่างกัน แตกต่างด้วยสิ่งล้อมรอบ จึงอาจทำให้มีการพัฒนาวัฒนธรรมออกมาต่างกัน นักมานุษยวิทยายังได้ชี้ประเด็นว่า ด้วยวัฒนธรรมนั่นเองที่ทำให้ผู้คนสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้สืบมาทางพันธุกรรม 

สำหรับภาพเขียนสีที่โดดเด่นที่แสดงความซับซ้อนของภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เลือกมาเป็นตัวอย่างในบทความ ‘ศาสนาของคนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย’ คือ ภาพเขียนสีบนเพิงผา ‘เขาปลาร้า’ เขตอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ภาพเขียนสีบนผนัง ‘ถ้ำตาด้วง’ เขตอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และภาพเขียนสีที่ ‘ผาแต้ม’ เขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อนำแนวคิดและวิธีการทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมมาเป็นกรอบและทิศทางในการศึกษาและวิเคราะห์จากร่องรอยทางพฤติกรรมของคนในยุคนั้นที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางโบราณคดีเป็นสำคัญ ในแนวคิดของนักมานุษยวิทยา อาจารย์ศรีศักรเชื่อว่า ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ และความเชื่อเป็นมิติของความจริงอย่างหนึ่งในความเป็นมนุษย์ ศาสนาของมนุษย์โบราณคือ ศาสนาและไสยศาสตร์ ในขณะที่ศาสนาของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ส่วนใหญ่คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาต้องหันมาใช้การศึกษาในเชิงเปรียบเทียบกับสังคมมนุษย์ที่ยังมีความล้าหลังทางเทคโนโลยีและไม่มีลายลักษณ์แทน เพราะสังคมในลักษณะนี้ยังคงเหลือร่องรอยพฤติกรรมทางความเชื่อและความคิดทางศาสนาและไสยศาสตร์ที่คล้ายๆ กันกับคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ แต่เรื่องนี้ก็ต้องกระทำกันด้วยความระมัดระวังในการวิเคราะห์ ตีความ และสรุป เพราะผู้คนของสังคมที่ล้าหลังทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ล้วนมีความรู้สึกนึกคิด [Mentality] เป็นคนสมัยปัจจุบันทั้งสิ้น