แหลมโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสันทรายขนาดใหญ่ มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน ลักษณะทั่วไปบริเวณแหลมโพธิ์เป็นป่าโปร่ง บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน และที่จอดเรือของชาวประมง ทางด้านทะเลฝั่งตะวันออกเป็นดินโคลน มีป่าโกงกางขึ้นอยู่ทั่วไป จากปลายแหลมเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร มีซากโบราณสถาน ก่ออิฐ ๑ แห่ง แต่ปัจจุบันพังทลายไปมากแล้ว ใกล้ๆ กันเป็นบ่อน้ำรูป ๖ เหลี่ยม พบเสาธรณีประตูทำด้วยหินปูน
แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ถือเป็นเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งในบริเวณอ่าวบ้านดอน เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลที่เอื้อต่อการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอกทั้งใกล้และไกล คือมีลักษณะเป็นสันทรายขนาดใหญ่ยื่นออกไปในทะเล มีเส้นทางแม่น้ำภายใน และมีอ่าวขนาดใหญ่ คือ ‘อ่าวบ้านดอน’ อันเหมาะสมต่อการจอดเรือสินค้า ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของคาบสมุทรภาคใต้ของไทย
คลองแหลมโพธิ์ บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน
และที่จอดเรือของชาวประมง
ด้วยลักษณะทางกายภาพและตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว แหลมโพธิ์จึงกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งบริเวณตอนกลางของคาบสมุทรที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับบ้านเมืองภายนอกทั้งจากซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก
‘ศรีวิชัยที่ไชยา’ โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้สังเคราะห์ถึงความสำคัญของแหลมโพธิ์ ที่มีความสัมพันธ์เชิงภูมิวัฒนธรรมกับเขาศรีวิชัย ควนสราญรมย์ ถ้ำคูหา และชุมชนศรีวิชัยรอบอ่าวบ้านดอน ไว้ว่า
‘….เมืองไชยาโบราณที่สันทรายเก่าคือเมืองท่าภายใน ในบันทึกที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า ลำคลองท่าโพธิ์ที่ไหลผ่านบริเวณย่านใหม่ของเมืองไชยาที่อยู่สองข้างทางรถไฟนั้น เมื่อ ๕๐ ปีก่อนเคยเป็นคลองกว้างที่เรือเดินทะเลเข้าไปถึง และตามลำคลองนี้มีการพบชิ้นส่วนเทวรูปพระนารายณ์ถือตะบองและสังข์เหนือสะโพก ซึ่งนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ในปัจจุบัน
ศาสนสถานถ้ำเขาคูหา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี