รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
มีขนาดกว้าง ๒๑ นิ้ว ยาว ๕ ฟุต และลึก ๑๑ นิ้ว
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญของจังหวัดสระบุรี มีรอยพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ประดิษฐานบนไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเรียกกันว่า ‘เขาสัจจพันธคีรี’ ปัจจุบันอยู่ในตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีขนาดกว้าง ๒๑ นิ้ว ยาว ๕ ฟุต และลึก ๑๑ นิ้ว ค้นพบในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓ – ๒๑๗๑) ประดิษฐานอยู่ในมณฑปน้อย อันมีพระมณฑปใหญ่สวมครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง
รอยพระพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของประเทศ ตามคติอินเดียถือเป็นอุทเทสิกเจดีย์อย่างหนึ่งมาแต่โบราณ ภายหลังพุทธกาลไม่นานนัก โดยสร้างขึ้นเพื่ออุทิศต่อพระพุทธเจ้า เป็นของนับถือแทนพระพุทธรูป คือเป็นของเนื่องในตถาคตเจ้า เหมือนกับสังเวชนีย-สถาน ๔ แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน รอยพระพุทธบาท ซึ่งอ้างกันว่าเป็นรอยที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเหยียบไว้ ด้วยพระองค์เอง มีอยู่ ๕ แห่ง ซึ่งก็มีตำนานต่าง ๆ กัน คือ ๑. เขาสุวรรณมาลิก ๒.เขาสุมนกูฏ ๓. เมืองโยนก ๔. หาดทรายในลำน้ำนัมมทานที และ ๕. เขาสุวรรณบรรพต
พระมณฑปน้อยที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท สร้างสมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่เดิมมีทองคำหุ้มอยู่ ต่อมาได้ถูกพวกจีนที่อาสาต่อสู้กับพม่า ลอกเอาทองคำไป แล้วยังเผาพระมณฑปด้วย รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ และได้รับการปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔
ส่วนพระมณฑปใหญ่ สร้างในสมัยพระเจ้าทรงธรรมเดิมเป็นพระมณฑปยอดเดียว ได้รับการเปลี่ยนแปลงเครื่องบนให้เป็นพระมณฑป ๕ ยอด ในรัชกาลพระเจ้าเสือ (พ.ศ. ๒๒๔๖ – ๒๒๕๑) แต่การปฏิสังขรณ์ได้ตกค้างมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. ๒๒๕๑ – ๒๒๗๕)
ครั้นในรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงเปลี่ยนให้เป็นมณฑปยอดเดียวอีก ต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนยอดจากไม้เป็นคอนกรีตทั้งองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๕ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม ได้จัดการซ่อมครั้งหลังสุด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๔๗๘ สูงประมาณ ๓๗.๒๕ เมตร เครื่องบนและเสาลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสีต่างๆ รอบผนังด้านนอก ประดับด้วยทองแดงฉลุลายเทพพนมบนกระจกสีน้ำเงิน ผนังด้านในถือปูนถึง ๓ ชั้น ชั้นแรก ถือปูนแล้วทาสีแดง เชื่อกันว่าทำในสมัยรัชกาลที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ถือปูนแล้วปิดทองทึบ ทำในสมัยรัชกาลที่ ๓ และชั้นที่ ๓ ที่เห็นในปัจจุบัน ประดับลายทองเป็นรูปพระเกี้ยว ปูลาดด้วยแผ่นเงิน เปลี่ยนเป็นเสื่อเงิน สมัยรัชกาลที่ ๔