วัดมหาธาตุ สุโขทัย (บน) และวัดเจดีย์เจ็ดยอด ศรีสัชนาลัย (ล่าง)
ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับทางลำน้ำน่านที่เดินทางจากปากน้ำโพที่เมืองพระบาง นครสวรรค์ ไปได้เพียงแต่ตำบลท่าเสา เมืองอุตรดิตถ์ เดินทางต่อไปยังเมืองน่านไม่ได้ แต่อุตรดิตถ์เป็นเมืองรุ่นหลังในสมัยอยุธยา เมืองสำคัญจึงเป็นเมืองทุ่งยั้งหรือสระหลวง อันเป็นเมืองคู่บนลำน้ำน่านรวมกับเมืองสองแควที่พิษณุโลก แต่ทั้งเมืองสองแควและสระหลวงไม่มีร่องรอยความเก่าแก่บนเส้นทางคมนาคมที่มีคนมาตั้งแต่สมัยทวารวดี
‘นครรัฐสุโขทัยในสยามประเทศ’ เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัย จากงานสำรวจและวิเคราะห์ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัยผ่านหลักการมานุษยวิทยาโบราณคดี ก่อให้เกิดคำอธิบายพัฒนาการรัฐสุโขทัยที่ต่างจากกรอบแนวคิดของประวัติศาสตร์รัฐชาติ และทำให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘ภูมิวัฒนธรรม’ ต่อพัฒนาการของบ้านเมืองรัฐสุโขทัย ทั้งปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และเส้นทางการค้า ตลอดจนการจัดการและความสำคัญของทรัพยากรในบริเวณเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย เป็นต้น
การลงพื้นที่แหล่งโบราณคดีที่มีพัฒนาการ ‘ก่อน’ การเกิดขึ้นของรัฐสุโขทัย (ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙) ทั้งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์-ทวารวดี ณ บ้านวังหาด บริเวณต้นน้ำแม่รำพันในเขตอำเภอบ้านด่านลานหอย และชุมชนในวัฒนธรรมเขมรบริเวณโบราณสถานปรางค์เขาปู่จา (ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖) ในเขตอำเภอคีรีมาศ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานและความสืบเนื่องของสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำยม
นอกจากนี้ได้นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย กับเมืองในบริเวณโดยรอบ ทั้งเมืองกำแพงเพชร และเมืองพระบาง (นครสวรรค์) ผ่านหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีความสัมพันธ์กันแม้ว่าวัสดุในการก่อสร้างจะแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่
เพราะฉะนั้น รัฐสุโขทัยมิได้เกิดขึ้นมาโดยลำพัง และมีการปกครองแบบรวมศูนย์เป็นอาณาจักร ในช่วงระยะแรกของรัฐสุโขทัยจึงเป็นรัฐ (State) ที่มีขอบเขตความสัมพันธ์ทั้งบ้านเมืองที่อยู่ใกล้เคียงและทางไกล